กพช.ถก มี.ค.นี้ เคาะใช้แซนบ๊อกซ์ซื้อขายไฟ

กพช.ถก มี.ค.นี้ เคาะใช้แซนบ๊อกซ์ซื้อขายไฟ

กกพ.เตรียมชง กพช.เดือน มี.ค.นี้ ปลดล็อคดันเอกชนซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน ภายใต้ ERC Sandbox ส่วนคืบหน้าโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่คาดประกาศ 1 ม.ค.64

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.เตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในเดือน มี.ค.นี้ พิจารณาแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเสรี ตามของเสนอแนะของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เพื่อขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบาย Enhancing Single Buyer ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว ภายในเดือน เม.ย.นี้ 

โดยให้ดำเนินภายใต้โครงการ ERC Sandbox เพื่อทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง ซึ่งจะเป็นการติดตามดูพฤติกรรมของผู้บริโภคและประสิทธิภาพของระบบว่าจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

เบื้องต้นโครงการ ERC Sandbox จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มแรกจะเป็นลักษณะการศึกษา ไม่มีผลกระทบต่อระบบโดยรวม และกลุ่มที่สอง จะเป็นการซื้อขายไฟฟ้าจริง peer to peer หรือ การซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน ที่ไม่ผ่านระบบจำหน่าย 

ทั้งนี้ต้องศึกษาผลกระทบในแต่ละมิติอย่างไร ทั้ง มิติค่าไฟฟ้า และมิติภาพรวมของระบบรวมถึง การกำหนดอัตราจัดเก็บค่าบริการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน(Wheeling charge)สำหรับการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะของ peer to peer ที่ต้องการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าหลักด้วย

นอกจากนี้ ยังจะเสนอ กพช. พิจารณาแนวทางส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ในประเทศไทย ด้วยการจัดทำในลักษณะพื้นที่ Sandbox เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดรถยนต์EV ซึ่งจะเสนอกำหนดอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น

ส่วนอัตราค่าบริการชาร์จไฟฟ้าทั่วไปสำหรับพื้นที่ของเอกชนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ Sandbox จะยังคงเป็นไปตามอัตราชั่วคราวที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน

“กำลังดูกันอยู่ว่า จะกำหนดเป็นพื้นที่ตามพฤติกรรมการใช้ เช่น พื้นมากมีการใช้บริการชาร์จมากก็จะแพงกว่าพื้นที่ใช้น้อย หรืออาจจะกำหนดอัตราตามช่วงเวลา โดยจะทดลองระบบนาน 1-2 ปี “

ส่วนความคืบหน้าการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าฐานนั้น ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดต่างๆ คาดว่า จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในช่วงไตรมาส3-4 ปีนี้ และประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2564 เป็นต้นไป 

สำหรับการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่นั้น จะคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น ผู้ผลิตเองใช้เอง (Prosumer)ที่แม้ว่า ปัจจุบันจะมีปริมาณไม่มาก แต่ในอนาคตมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น