'รักษ์พงษ์' นั่ง ผอ.กองทุนหมู่บ้าน สางปัญหา 7000 กองทุนมีหนี้เสีย

'รักษ์พงษ์' นั่ง ผอ.กองทุนหมู่บ้าน สางปัญหา 7000 กองทุนมีหนี้เสีย

"รักษ์พงษ์" นั่ง ผอ.กองทุนหมู่บ้าน คนใหม่ เปิดภารกิจเร่งด่วน เชื่อมโยงตลาดผู้ผลิต-ผู้ซื้อ 13 ล้านคน สางปัญหา 7000 กองทุนที่มีหนี้เสีย พร้อมให้กองทุนเพิ่มการสัมมนาดูงานในประเทศหนุนนโยบายไทยเที่ยวไทย

นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่าภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (บอร์ดกองทุนหมู่บ้าน)ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ดำรงตำแหน่ง ผ.อ.กองทุนหมู่บ้านฯคนใหม่แทนนายนที ขลิบทอง ที่หมดวาระลง

ทั้งนี้งานเร่งด่วนที่ตนได้วางนโยบายในการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้านฯโดยนโยบายแรกคือการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศที่มีสมาชิกกว่า โดยในระยะเร่งด่วนจะสร้างความเข้มแข็งเพิ่มเติมให้กับกองทุนหมู่บ้าน 79,595 กองทุนทั่วประเทศ และมีจำนวนสมาชิกกว่า 13 ล้านคน ซึ่งต้องทำให้กองทุนหมู่บ้านฯเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะเน้นไปที่การผลิตและขายสินค้ากันระหว่างสมาชิกโดยใช้การทำการตลาดและการสื่อสารออนไลน์เข้ามาช่วยเพื่อให้กองทุนหมู่บ้านฯมีบทบาททั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้า

นโยบายต่อมาคือการแก้ไปปัญหาให้กับกองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการประเมินศักยภาพของกองทุนให้อยู่ในระดับต้องปรับปรุง (D) รวมทั้งกองทุนหมู่บ้านที่มีปัญหาเรื่องหนี้เสียซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,000 กองทุน ซึ่งกองทุนฯเหล่านี้จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินเพิ่มทุนรอบใหม่ที่รัฐบาลจะมีโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่านการเพิ่มทุนหรือให้เงินสนับสนุนการพัฒนาชุมชนของกองทุนหมู่บ้าน เป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะแก้ปัญหาให้กองทุนหมู่บ้านที่มีปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยส่วนที่เป็นหนี้เสียก็จะหาหน่วยงานที่มีความรู้เรื่องนี้มีจัดการหนี้เพื่อให้เดินหน้าต่อไป

นอกจากนี้ในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการให้กองทุนหมู่บ้านเป็นกลไกในการช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่ประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด - 19 ทำให้การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ลดจำนวนลงไปมากประมาณเดือนละ 1 ล้านคน ซึ่งในส่วนนี้กองทุนหมู่บ้านจะเข้าไปช่วยเหลือโดยประสานกับกรรมการกองทุนหมู่บ้านในชุมชนต่างๆทั่วประเทศ รวมทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ที่มีการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบเรื่องการท่องเที่ยวไว้ทั่วประเทศเพื่อให้กรรมการและสมาชิกกองทุนได้จัดกิจกรรมไปดูงานหรือท่องเที่ยวในหมู่บ้านต้นแบบเรื่องการท่องเที่ยวและนำกลับมาพัฒนาหมู่บ้านตัวเองซึ่งจะช่วยให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างคนไทยด้วยกันได้ ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ในการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวและสัมนาของกองทุนหมู่บ้าน