เดิมพันครั้งสุดท้าย 'อนาคตใหม่' ยุบ หรือ ยก

เดิมพันครั้งสุดท้าย 'อนาคตใหม่' ยุบ หรือ ยก

เปิดก่อนได้เปรียบเมื่อ “ปิยบุตร” ชิงแถลงปิดคดีเงินกู้นอกศาล ยก 5 ประเด็น ปูทางลง พร้อมชวนแฟนอนาคตใหม่ร่วมกิจกรรมที่พรรค "วิเคราะห์คำตัดสินแยกเป็น 3 แนวทาง"

เรียกว่า ชิงไหวชิงพริบชิงสถานการณ์กันตั้งแต่ก่อนวันชี้ชะตา พรรคอนาคตใหม่ จะอยู่ หรือไป เปิดเกมด้วย นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค แถลงปิดคดีนอกศาลรัฐธรรมนูญ ณ ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้พรรคซึ่งศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 โดยชี้แจง 5 ประเด็น ที่ตั้งใจจะแถลงต่อศาลเพื่อชี้ให้เห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้กระทำความผิด และอธิบายความจำเป็นที่ต้องกู้เงินจากหัวหน้าพรรคมาทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ที่อาจแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น เช่น การขายโต๊ะจีน เพื่อรับเงินบริจาคจากทุนขนาดใหญ่ แต่พรรคปฏิเสธที่จะรับเงินจากนายทุนขนาดใหญ่จึงเลือกทางออกที่จะกู้เงินจากหัวหน้าพรรค แล้วมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

พร้อมทั้งยืนยันว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้ เพราะกฎหมายใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่มีข้อใดระบุเป็นข้อห้ามไว้ และมี 16 พรรค เลือกใช้วิธีแบบเดียวกัน ขณะที่เงินกู้ถือเป็นหนี้สิน ไม่นับเป็นรายได้ ไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด ไม่มีความผิดตามมาตรา 66 แต่ความผิด มาตรา 72 มาปรากฏในภายหลัง ทั้งที่ไม่เข้าองค์ประกอบของกฎหมาย อย่างไม่เป็นธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ กระบวนการในชั้น กกต.มีความผิดปกติ กรณีมาตรา 66 คณะอนุกรรมการเรียกไปพรรคเป็นพยานก่อนที่ต่อมาจะยกคำร้องว่าพรรคการเมืองกู้เงินได้ แต่กกต.ก็ยังส่งให้คณะอนุกรรมการอีกคณะ โดยมีมติเช่นเดิม 2 คณะให้ยกคำร้องไปแล้ว ซึ่งตามกฎหมายจะต้องยุติแต่ กกต.กลับเดินเรื่องต่อไปเรื่อยๆ ส่วนกรณีมาตรา 72 กกต.ใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์ในการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค โดยไม่เคยมีการแจ้งข้อกล่าวหากับพรรคและไม่เคยมีการเรียกไปให้ข้อมูล

อีกแง่หนึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคและไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค กล่าวคือ รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 210 (3) บัญญัติว่าหน้าที่และอํานาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแล้ว ไม่มีมาตราใดที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค โดยอำนาจยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคมีอยู่ในมาตรา 92 ของกฎหมายพรรคการเมืองเท่านั้น ดังนั้นศาลต้องวินิจฉัยก่อนว่ามาตรา 92 ของกฎหมายพรรคการเมืองขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ส่วนบทลงโทษของมาตรา 66 มีแต่โทษเพิกถอนสิทธิของบุคคลที่บริจาคเงินเกินและโทษปรับบุคคลที่บริจาคเงินเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด พรรคที่รับเงินดังกล่าวก็ต้องส่งเงินคืนและเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเท่านั้น โดยไม่มีการยุบพรรค ที่ยืนยันได้ว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่มีความผิดตามมาตรา 62 มาตรา 66 มาตรา 72 ศาลรัฐธรรมนูญต้องยกคำร้อง

ก่อนที่จะส่ง ทีเซอร์ พร้อมเชิญชวนผู้สนับสนุนพรรค และมวลชนร่วมกิจกรรม #ไม่ถอยไม่ทนรวมคนอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 อีกด้วย ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่มีนัยยะ และน่าจับตาอย่างยิ่ง

หากมองกันตามกระบวนการ ข้อหาที่ กกต. ชงให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 72 แนวโน้มคำวินิจฉัย จะต้องตั้งอยู่บนข้อหาตามมาตรา 72 เป็นหลัก

แนวทางแรก ยุบพรรค-ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งหากคำวินิจฉัยออกมาแนวนี้ แสดงว่าศาลมองว่า พรรคการเมืองไม่สามารถกู้เงินได้ โดยอ้างอิงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 ที่เขียนไว้ชัดว่า พรรคการเมืองอาจมีรายได้จาก 7 ช่องทาง แต่ไม่มีเรื่องการกู้เงิน ฉะนั้นเมื่อพรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้ การที่พรรคอนาคตใหม่รับเงินกู้มา จึงถือเป็นการรับ "เงินหรือประโยชน์อื่นใด" โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือศาลไม่ได้มองว่าเงินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นเงินค้ายา แต่มองว่าวิธีการได้มาไม่ชอบตามกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้กู้ แต่พรรคอนาคตใหม่ดันไปกู้มา

ถ้าศาลเชื่อแบบนี้ ผลก็คือ พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 92 และ กกต.ต้องเดินหน้าฟ้องคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคด้วย เพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี

แนวทางที่ 2 วินิจฉัยว่าการกู้เงินเป็นเรื่องผิด แต่ไม่ยุบพรรค หมายความว่า การกู้เงินเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้ทำได้ และมองว่าการทำสัญญากู้ในระยะยาว ไม่มีหลักประกัน แถมดอกเบี้ยต่ำ ยอดกู้เกือบ 200 ล้านบาท อาจถือได้ว่าเป็นการทำ "นิติกรรมอำพราง" เพื่อหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การรับบริจาค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บุคคลสามารถบริจาคได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อพรรคต่อปี ตีความว่า เป็นการบริจาคเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ก็จะเข้าข่ายผิดมาตรา 66 คือบริจาคเกินเกณฑ์ มีความผิดทั้งผู้บริจาค และพรรคที่รับบริจาค โดยผู้บริจาค

ในกรณีนี้ก็คือนายธนาธร หัวหน้าพรรค ผิดตามมาตรา 124 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี

ส่วนพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้รับบริจาค จะผิดตามมาตรา 125 ระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี และให้ริบเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทเข้ากองทุนพัฒนาพรรคการเมือง (ริบ 190.2 ล้านบาท)

ขณะที่โทษยุบพรรคตามมาตรา 72 ศาลอาจตีความเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าน่าจะหมายถึง "ที่มาของเงิน" ไม่ชอบด้วยกฎหมายมากกว่า ซึ่งหากตีความแบบนี้ พรรคอนาคตใหม่ก็จะรอดจากการถูกยุบพรรค

แนวทางที่ 3 ศาลยกคำร้อง โดยอาจวินิจฉัยว่า การกู้เงินเป็นเรื่องผิด แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ จึงสั่งให้คืนเงิน หรือวินิจฉัยว่าการกู้เงินไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม ตามที่พรรคอนาคตใหม่อ้างมาตลอดก็เป็นได้

แต่แนวทางนี้ หากศาลวินิจฉัยออกมาจริง ก็ต้องตอบคำถามว่าจะวางบรรทัดฐานให้พรรคการเมืองกู้เงินมาใช้ทำกิจกรรมทางการได้เมืองอย่างเสรี จนทำให้เกิดการครอบงำพรรค หรือประมูลซื้อเก้าอี้รัฐมนตรีกันล่วงหน้าตามที่หลายฝ่ายกังวลหรือไม่

สรุปผล (21 กุมภาพันธ์ 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการ ได้มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92  ในคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร และ ห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94