'จีพีเอสซี' รุกโรงงานแบต หนุนรถยนต์ไฟฟ้า-สมาร์ทซิตี้

'จีพีเอสซี' รุกโรงงานแบต หนุนรถยนต์ไฟฟ้า-สมาร์ทซิตี้

ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับเทคโนโลยีพลังงาน โดยเฉพาะระบบกักเก็บพลังงานที่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจยานยนต์ รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. เปิดเผย ว่า GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับ นายชาเกฮิสะ มูรากิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น 

ทั้งนี้ มีมูลค่าสัญญาประมาณ 295 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ที่จัดซื้อโดย GPSC แล้วจะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โดยโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่ 12 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดจังหวัดระยอง คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธ.ค. 2563 นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid

“การคัดเลือก ไทยทากาซาโก เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานที่ต้องการใช้ระบบการควบคุมความชื้น หรือ Dry Room เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานยา ซึ่งมีประสบการณ์มากกว่า 39 ปี ดังนั้น GPSC จึงเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการก่อสร้างโรงงานที่ต้องอาศัยเทคนิคเฉพาะด้าน จะทำให้โรงงานแบตเตอรี่ของบริษัทฯ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

สำหรับโรงงานแห่งนี้ จะเป็นรูปแบบโรงงานต้นแบบที่ต่อยอดมาจากการผลิตระดับห้องทดลอง เพื่อนำผลวิจัยที่ได้มาขยายขนาดผลิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งโรงงานแห่งนี้จะมีกำลังการผลิตอยู่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) จะเริ่มผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะขยายกำลังการผลิตไปที่ 100 MWh ในช่วงปี 2564 

นอกจากนี้ หากได้รับการตอบสนองที่ดีจากตลาด ก็จะขยายไปตั้งโรงงานระดับการผลิตเชิงพาณิชย์ ที่มีกำลังการผลิต 2 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อไป ซึ่งจะต้องขยายไปตั้งในพื้นที่ภายคาดว่าจะอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จ.ระยอง หรือพื้นที่อื่นของกลุ่ม ปตท.ที่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“การลงทุนต่อยอดจากกำลังการผลิตที่ 30 MWh ไปสู่ 100 MWh จะใช้เงินลงทุนไม่มาก เพราะได้ลงทุนอาคาร ระบบต่างๆรองรับไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนการขยายไปสู่ระดับโรงงานขนาดใหญ่ 2 GWh จะใช้เงินลงทุนสูงจะต้องร่วมทุนกับพันธมิตรที่เป็นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมด้านพลังงานที่จะรองรับกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี" 

รวมทั้งทิศทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทชิตี้ ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและการใช้พลังงานสะอาดในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ ซึ่งกำลังจะมีการพัฒนาสมาร์ทซิตี้หลายจุดในพื้นที่อีอีซี

158211844283

สำหรับ เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตนั้น ได้นำเอาเทคโนโลยี Semi Solid ของ บริษัท 24M Technologies ที่เป็นสตาร์ทอัพจากสหรัฐ ซึ่ง GPSC ได้เข้าไปถือหุ้นประมาณ 20% ทำให้บริษัทฯร่วมเป็นเจ้าของเทคโนโลยีนี้ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค 

โดยในเบื้องต้นจะผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับ กลุ่ม ปตท. และพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตตามความต้องการของตลาดไปสู่ระดับภูมิภาคเอเชีย รวมถึงการเข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากทิศทางของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศในอาเซียน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

“ในปัจจุบันทั่วโลกมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เทคโนโลยี 24M อยู่ 2 ที่คือที่ไทย และญี่ปุ่น โดยโรงงานที่ญี่ปุ่นก็เป็นระดับโรงงานต้นแบบเหมือนกับที่ไทย พึ่งเริ่มก่อสร้างในปีที่ผ่านมา ซึ่งการลงทุนของ GPSC ในครั้งนี้ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่สำหรับสตอเรจ ที่ใช้สำรองไฟฟ้า และแบตเตอรี่ในรถยนต์ ช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องนวัตกรรมไฟฟ้า”

สำหรับเทคโนโลยี 24M มีจุดเด่นในเรื่องการลดขั้นตอนและวัสดุในการผลิตแบตเตอรี่ ทำให้มีราคาต่ำกว่าแบตเตอรี่ที่ใช้ในขณะนี้ รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสามารถนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยในปัจจุบันราคาแบตเตอรี่ในตลาดโลกอยู่ที่ 160-200 ดอลลาร์ต่อ 1 KWh (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ซึ่งราคาแบตเตอรี่ของบริษัทฯในระดับโรงงานต้นแบบที่มีกำลังการผลิต 30 MWh จะอยู่ที่ 300 ดอลลาร์ต่อ 1 KWh หากขยายกำลังการผลิตไปที่ 100 MWh ราคาจะอยู่ที่ 200 ดอลลาร์ต่อ 1 KWh 

"แต่ถ้าขยายกำลังการผลิตไประดับโรงงานขนาดใหญ่กำลังผลิต 2 GWh จะมีราคาลดลงเหลือไม่ถึง 100 ดอลลาร์ต่อ 1 KWh หรือต่ำกว่าเทคโนโลยีอื่นกว่า 50% ทำให้มีศักยภาพสูงในการแข่งขันในตลาดโลก"

สำหรับในช่วงเริ่มต้นระดับโรงงานต้นแบบ จะร่วมกับบริษัทพันธมิตรในกลุ่ม ปตท. และผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า นำไปทดสอบใช้งานจริง เพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยในช่วงแรกจะผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในอุตกรณ์ที่ไม่เคลื่อนที่ เช่น สตอเรจกักเก็บไฟฟ้าในธุรกิจต่างๆของเครือ ปตท. เพื่อลดการใช้พลังงานภายนอก และร่วมกับผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊ก และรถบัส นำแบตเตอรี่ไปผลิตรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า และในอนาคตจะขยายไปสู่การผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต่อไป