'ยูเออี' ยกสกอท.รับรองฮาลาล

'ยูเออี' ยกสกอท.รับรองฮาลาล

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไฟเขียว สกอท. เป็นหน่วยงานรับรองฮาลาล ขณะ มกอช. ถก IHAF BoD ดัน ยุทธศาสตร์ 5 ปี หวังทวงตลาดฮาลาล 1,000 ล้านต่อปี

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงานฮาลาล (IHAF BoD) ครั้งที่ 7 ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ว่า ประเทศไทยได้ร่วมพิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี และกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน สำหรับการเป็นองค์การผู้นำด้านฮาลาลในระดับสากล

นอกจากนี้จะเร่งดำเนินการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์การความร่วมมือกลุ่มประเทศอิสลาม (OIC) ในการปรับประสานด้านมาตรฐานฮาลาล และสร้างการยอมรับในใบรับรองมาตรฐาน เพื่อลดภาระที่มีต่อผู้ประกอบการผลิตสินค้าฮาลาลไทยที่ต้องปฏิบัติหลายมาตรฐาน และลดปัญหาความซ้ำซ้อนในการตรวจสอบและรับรอง ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าและส่งออกฮาลาลระหว่างประเทศ

ที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในสินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะสินค้าไก่และผลิตภัณฑ์ ไปยัง UAE ได้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ยังไม่ผ่านการตรวจรับรองระบบงานในขอบข่ายดังกล่าว ตามข้อกำหนดใหม่ของ UAE

แต่จากการนำทีมเจรจา โดย มกอช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อปลายเดือนก.ย. 2562 ทำให้สามารถบรรลุข้อตกลงการเจรจา โดยฝ่าย UAE ตอบรับข้อเสนอฝ่ายไทย ได้เร่งจัดส่งทีมตรวจประเมินของ UAE มาตรวจประเมิน สกอท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองสินค้าฮาลาลไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารองค์การศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 และในวันที่ 18 ก.พ. 2563 สกอท. ได้รับการรับรองระบบงาน เป็นหน่วยรับรองฮาลาลตามมาตรฐาน UAE.S 2055-2: 2015 และ OIC/SMIIC 1: 2019 ในขอบข่าย C, D, E, Lจาก Emirates International Accreditation Centre (EIAC) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าฮาลาลไทย จำนวนมากกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี จะกลับคืนมา

“การที่ สกอท. ผ่านการรับรองระบบงานตรวจสอบฮาลาลจาก UAE ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยขยายตลาดสินค้าฮาลาลไทยให้เป็นที่แพร่หลายได้มากขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในตะวันออกกลาง ทำให้ในอนาคตการส่งออกสินค้าฮาลาลไทยจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ”