เที่ยวตามรอย 'Game of Thrones' เยือนหมู่บ้านป้อมปราการ 'ไอท์-เบน-ฮาดดู'

เที่ยวตามรอย 'Game of Thrones' เยือนหมู่บ้านป้อมปราการ 'ไอท์-เบน-ฮาดดู'

หลายล้านคนทั่วโลกอาจเคยเห็นป้อมปราการหินทรายในซีรีส์แนวแฟนตาซีชื่อดังอย่าง “เกม ออฟ โธรนส์” (Game of Thrones) มาแล้ว แต่จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสไปเยือนหมู่บ้านแห่งนี้ที่ชื่อว่า “ไอท์-เบน-ฮาดดู” ในโมร็อกโก

ป้อมปราการยุคโบราณที่ตั้งอยู่ตีนเทือกเขาแอตลาสอันกว้างใหญ่ ได้รับความสนใจจากผู้ชมซีรีส์ยอดนิยมของเอชบีโอ (HBO) และยังเคยถูกใช้เป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์มหากาพย์เรื่อง “กลาดิเอเตอร์” ของเซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ ผู้กำกับมือฉมัง วัย 82 ปี

แต่หมู่บ้านแห่งนี้ซึ่ง "ยูเนสโก" (องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ) ยกให้เป็นมรดกโลก กลับไม่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเยือนมากนัก ต่างจากสถานที่ถ่ายทำที่มีชื่อเสียงแห่งอื่น ๆ ทั้งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และโทรทัศน์ ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่คนท้องถิ่นบางส่วนตั้งใจที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

158211074318

"หลายคนบอกผมว่า พวกเขามาที่นี่เพื่อชมสถานที่ถ่ายทำเกม ออฟ โธรนส์" อาห์เหม็ด บาบูซ ไกด์นำเที่ยวในพื้นที่เผยกับเอเอฟพี "แม้ที่นี่จะมีการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับหนัง แต่บอกตามตรงว่าเราไม่ได้พัฒนาเรื่องนี้มากอย่างที่ควรจะเป็น"

  • สำรวจป้อมปราการเลื่องชื่อ

ไอท์-เบน-ฮาดดู เป็นป้อมปราการที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคใต้ของโมร็อกโก เวลาที่นี่แทบจะหยุดเดินเมื่อมองผ่านหุบเขาลูกหนึ่งซึ่งอยู่ห่างจากเมืองวอซาเซทราว 30 กิโลเมตร

หลังจากผ่านทางเข้าอันโอ่อ่าสมราคาสถานที่ถ่ายทำซีรีส์ระดับโลก ผู้มาเยือนจะต้องเจอกับเขาวงกตที่เป็นทางเดินอันคดเคี้ยว ซึ่งในท้ายที่สุดจะพาไปพบกับจัตุรัสสาธารณะที่ชาวพื้นเมืองในหมู่บ้านเคยมารวมตัวกัน

นอกจากนี้ ไอท์-เบน-ฮาดดูยังมีมัสยิด 1 แห่งและสถานที่ฝังศพ 2 แห่ง โดยแห่งหนึ่งสำหรับชาวมุสลิมและอีกแห่งสำหรับชาวยิว

158211058598

แม้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังเหลือบ้านเรือนอยู่ราว 2-3 หลังที่ปรับเปลี่ยนมาเป็นแผงขายงานฝีมือของคนท้องถิ่น

  • สถานที่ถ่ายทำในฝัน

ป้อมปราการหินทรายแห่งนี้ถือเป็นทำเลถ่ายทำภาพยนตร์ในอุดมคติ โดยตั้งอยู่ไม่ไกลจากสตูดิโอในเมืองวอซาเซทซึ่งได้รับสมญานามว่า “เมกกะแห่งวงการภาพยนตร์โมร็อกโก” การสร้างภาพยนตร์หลายเรื่อง ตั้งแต่ “Lawrence of Arabia” ไปจนถึง “The Mummy” ต่างมาถ่ายทำที่นี่

เมื่อไม่นานนี้ บางฉากในซีรีส์แห่งยุคอย่างเกม ออฟ โธรนส์ ยกกองมาถ่ายทำกันที่ไอท์-เบน-ฮาดดู โดยสถานที่แห่งนี้ถูกตั้งชื่อสมมติในเรื่องว่าเป็นเมืองยุนไค ซึ่งถูก “เดเนอริส ทาร์แกเรียน” ตัวละครสำคัญยกพลไปยึดเมืองหลวงแห่งการค้าทาสได้สำเร็จ

158211062022

ฮัมมาดี วัย 61 ปี นักแสดงตัวประกอบเกม ออฟ โธรนส์ ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในประวัติศาสตร์การถ่ายทำ ณ สถานที่แห่งนี้ด้วย

“การถ่ายทำทั้งหมดนี้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับภูมิภาคนี้ด้วย” เขากล่าวพร้อมยิ้มกว้าง

ฮัมมาดีได้รับบทเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง และแม้ว่าปกติเขาจะอาศัยอยู่ที่บ้านสไตล์โมเดิร์นกว่าในหมู่บ้านอีกฝั่งของหุบเขาเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แต่นักแสดงรายนี้ก็ยังกลับมาที่หมู่บ้านป้อมปราการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

  • ได้ไปต่อกับภาคแยก

บนกำแพงตรงทางเข้าบ้านหลังเดิมของฮัมมาดี มีรูปภาพความทรงจำเกี่ยวกับโปรเจคถ่ายทำที่เขาเคยร่วมแสดงรูปหนึ่งเผยให้เห็นฮัมมาดีขณะสวมชุดนักรบโรมันโบราณ ถ่ายร่วมเฟรมกับ เซอร์ ริดลีย์ สก็อตต์ ยอดผู้กำกับในฉากภาพยนตร์กลาดิเอเตอร์

“เรามีมรดกในโลกภาพยนตร์ที่ล้ำค่ามาก ซึ่งเราก็หวังว่าจะใช้สถานที่แห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้” บาบูซ ไกด์วัย 29 ปี เผย “แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกเลยว่า เกม ออฟ โธรนส์ เคยยกกองมาถ่ายทำที่นี่”

158211063829

ณ ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของโมร็อกโก เมืองเอสเซาอิราก็เคยปรากฏอยู่ในฉากของมหากาพย์ GOT แต่ก็อีกเช่นเดียวกัน หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวโมร็อกโกยังไม่ใช้ประโยชน์จากการเป็นส่วนหนึ่งในซีรีส์ดัง

เทียบกับไอร์แลนด์เหนือ มอลตา และเมืองดูบรอฟนิกในโครเอเชีย สามารถดึงดูดบรรดาสาวกจากทั่วโลก ที่จดจำได้ว่าสถานที่เหล่านี้เคยเป็นฉากถ่ายทำแฟรนไชส์ซีรีส์นี้

เพื่อเป็นการชดเชยเรื่องนี้ บาบูซและกลุ่มคนรุ่นใหม่อื่น ๆ ในหมู่บ้านไอท์-เบน-ฮาดดู จึงช่วยกันระดมทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดเพื่อทำโปรเจคใหญ่ นั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ในป้อมปราการ” ที่รวบรวมภาพถ่ายจากการสร้างภาพยนตร์และซีรีส์ต่าง ๆ ที่เคยมาถ่ายทำที่นี่

ขณะที่เอชบีโอ ช่องเคเบิลชื่อดังของสหรัฐ ประกาศแผนสร้างภาคแยกเรื่องแรกของแฟรนไชส์ GOT ในชื่อว่า “House of the Dragon”

จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน ผู้เขียนนิยายมหากาพย์ที่เอชบีโอนำมาสร้างเป็นซีรีส์เกม ออฟ โธรนส์ โพสต์ผ่านบล็อกส่วนตัวว่า การถ่ายทำภาคแยกนี้ก็จะเกิดขึ้นในโมร็อกโกเช่นกัน

--------------------------------------------------------------------------

ที่มา: AFP