‘ปิยบุตร’ จากนักวิชาการ สู่พ่อบ้าน ‘อนาคตใหม่’

‘ปิยบุตร’ จากนักวิชาการ สู่พ่อบ้าน ‘อนาคตใหม่’

ย้อนประวัติก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองของ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับบทบาทต่อไปหากถูก "ยุบพรรค"

ถ้าหากพูดถึง "พรรคอนาคตใหม่" นอกจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว อีกคนที่มักถูกเอ่ยถึงพ่วงมาด้วยเสมอคือ ผศ.ดร. ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนที่จะจับมือตั้งพรรคการเมืองกับธนาธรครั้งแรก ตำแหน่งทางวิชาการสุดท้ายของ ปิยบุตร คือ รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน หลังรับราชการมาแล้วมากกว่า 16 ปี

ก่อนหน้าที่ผันตัวออกมาเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ ปิยบุตร เป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรง จบจากปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับทุนเรียนต่อปริญญาโท DEA สาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก และได้เขียนวิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศาลปกครอง: การกำเนิดของสถาบัน” จากมหาวิทยาลัย Toulouse ประเทศฝรั่งเศส

หลังจากนั้น ปิยบุตร ได้กลับมาสอนที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับการเป็นนักวิชาการของ ปิยบุตร คือ ในปี 2553 ได้ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการนิติศาสตร์อีก 6 ท่าน ก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” ทำงานวิชาการเสนอข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในสังคมไทยให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และหลายครั้งก็ถูกเพ่งเล็งเพราะข้อเสนอนั้นมีความเชื่อมโยงกับสถาบัน ซึ่งแม้ว่าผันตัวมาเป็นนักการเมืองแล้ว สิ่งนี้ก็ยังถูกนำมาเป็นข้อกล่าวหาของเขาเสมอ

หลายครั้งที่อนาคตใหม่ ถูกโจมตีเรื่องกฎหมาย อ.ปิยบุตร ก็มักจะเป็นผู้ออกมาชี้แจงถึงหลักการทางกฎหมาย และวิชาการต่างๆ ได้เป็นอย่างดี หรือไม่เว้นแม้แต่ครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองด้านความมั่นคง” เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 และได้กล่าวถึงพรรคอนาคตใหม่ แบบไม่เอ่ยชื่อ ว่ามีความคิดล้มล้างระบอบการปกครอง วันถัดมา ปิยบุตร ก็ออกมาตอบโต้ทันควันถึงประเด็นต่างๆ ทั้งเป้าหมายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกโจมตีว่าล้มล้าง และข้อกล่าวที่บอกว่าพรรคอนาคตใหม่สร้างความปลุกปั่นให้กับสังคม และไม่ว่าอนาคตใหม่จะถูกโจมตีด้วยข้อกฎหมายใดก็ตาม อ.ป๊อก ปิยบุตรก็สามารถนำข้อมูลหลักการทางกฎหมายออกมาตอบโต้ได้หมด

ส่วนแผนสำรองที่หาก อนาคตใหม่ถูกยุบพรรค ปิยบุตรได้กล่าวว่า การยุบพรรคถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนกับเรื่องงูเห่า ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่มากในระบอบประชาธิปไตย ที่สำคัญการยุบพรรคที่หลายคนคาดการณ์ว่าจะยุบพรรคอนาคตใหม่แน่นอนนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงเรื่องข้อกฎหมาย แต่เป็นการพูดโดยข้อมูลทางการเมืองเป็นหลัก

ซึ่งหากพรรคถูกยุบจริง ปิยบุตร และธนาธรนั้น หากพรรคถูกยุบและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับพรรคใหม่อีก โดยจะให้แกนนำแถว 2 ทำพรรคต่อไป และเดินหน้าทำงานในสภาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพรรคยังมีบุคลากรพร้อม เพราะหากเข้าไปยุ่งเกี่ยว อาจมีคนไปยื่นยุบพรรคใหม่ซ้ำอีก ในข้อหาครอบงำพรรคการเมือง

สำหรับบทบาทของ ปิยบุตร และธนาธร ก็จะเดินหน้าทำงานการเมืองนอกสภา อาจจะทำในรูปมูลนิธิ และเคลื่อนไหวรณรงค์ในเชิงประเด็น โดยไม่ได้มีเป้าหมายล้มล้าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาล โดยประเด็นที่จะเคลื่อนไหวมีมาก ที่คิดไว้ก็ 4-5 ประเด็น ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ การยกเลิกการเกณฑ์ทหารโดยการบังคับ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และการยกเลิกการผูกขาดโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่

สรุปผล (21 กุมภาพันธ์ 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการ ได้มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92  ในคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร และ ห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94