ผบ.ตร.ปัดเลือกปฏิบัติ! 'ช่อ-โรม' ซักปมแทรกแซง 'วิ่งไล่ลุง'

ผบ.ตร.ปัดเลือกปฏิบัติ! 'ช่อ-โรม' ซักปมแทรกแซง 'วิ่งไล่ลุง'

"จักรทิพย์" แจง กมธ.กฎหมาย ปมแทรกแซงจัดงาน "วิ่งไล่ลุง" ยันดูแลกิจกรรมทุกพื้นที่ตามกฎหมาย อย่าสงสัยตำรวจเอียงข้าง ย้ำไม่มีทหารเข้ามาแทรกแซง

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 63 พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษชน สภาผู้แทนราษฎร จากกรณีการร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจการใช้อำนาจในการแทรกแซงการจัดงานวิ่งไล่ลุง ของนิสิต นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยมี นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นประธานกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ ก่อนการเข้าสู่วาระ นายปิยบุตร ได้ขอให้กรรมาธิการฯ ปรบมือเพื่อแสดงความชื่นชมต่อ ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์กราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา

จากนั้นได้เข้าสู่วาระโดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช ในฐานะรองคณะกรรมธิการคนที่ 4 นายรังสิมันต์ โรม และ นายสุทัศน์ เงินหมื่น ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้สอบถาม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรับมือกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เพราะการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สอดคล้องกัน บางพื้นที่มีการข่มขู่ คุกคาม โดยเฉพาะนักศึกษามีการติดตามแม้กระทั่งคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด และได้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอย่างไรบ้าง ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ ได้สอบถามเพิ่มเติมว่าการทำงานของตำรวจมีทหารเข้ามาแทรกแซงหรือไม่

โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่า การทำงานของตำรวจไม่เคยมีทหารเข้ามาแทรกแซง และแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่คือทำตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เน้นการดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ เกิดความรุนแรง หรือใช้อาวุธ เหมือนกับการชุมนุมในอดีตที่ผ่านมา และได้ถอดบทเรียนมาตลอดเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเดิม พร้อมระบุว่า ตน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของผู้ชุมนุม ขออย่าสงสัย ว่าตำรวจจะเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และที่ผ่านมาก็ดำเนินคดีกับทุกฝ่ายไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ความยากง่ายในการดำเนินการแต่ละคดีต่างกันจำเป็นต้องใช้เวลา สิ่งสำคัญคือไม่อยากเห็นประชาชนลงถนน และขอผู้ชุมนุมอย่าทำอะไรที่สุ่มเสียงผิดกฎหมาย และพร้อมรับข้อเสนอจากกรรมาธิการฯ เพื่อนำไปทบทวนและปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุด รอง ผบ.ตร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การรับมือการชุมนุมนั้นไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ให้แต่ละพื้นที่ดูเป็นรายกรณีตามสถานการณ์ บางพื้นที่จำเป็นต้องมีการสืบสวนสอบสวนหาข่าว จนอาจถูกมองว่าเป็นการข่มขู่ คุกคามประชาชน แต่ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปจนเป็นอันตรายกับประชาชน และการจัดกิจกรรมได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่ที่เจตนา เพราะการชุมนุมนั้นมีอยู่สองแบบคือแบบจัดตั้งและเพื่อปากท้อง