ไขข้อกฎหมาย 'สัญญาณล่ม' ค่ายมือถือเก็บเงินได้หรือไม่?

ไขข้อกฎหมาย 'สัญญาณล่ม' ค่ายมือถือเก็บเงินได้หรือไม่?

ไขข้อกฎหมาย กรณีสัญญาณมือถือล่ม ค่ายมือถือสามารถเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ได้หรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์สัญญาณมือถือค่ายหนึ่งล่มในบางพื้นที่ของไทยเมื่อวานนี้ (18 ก.พ.) จนเกิดกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

เพจเฟซบุ๊ค ห้องสมุดสัญญา ธรรมศักดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โพสต์ว่า หากสัญญาณมือถือล่ม ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการไม่ได้ โดยเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

ข้อ 14 ของมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 กำหนดไว้ดังนี้

“ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องขึ้นกับการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการจนเป็นเหตุให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการโทรคมนาคมได้โดยเร็ว และผู้ให้บริการไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการในช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องดังกล่าวได้ เว้นแต่ผู้ให้บริการพิสูจน์ได้ว่าเหตุขัดข้องดังกล่าวเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ใช้บริการ”

158209090745

ขณะที่เพจให้ความรู้กฎหมาย Law Inspiration โพสต์แนะนำว่า กรณีนี้ ผู้บริโภคต้องทำเรื่องขอคืนเงิน ผู้ให้บริการค่ายมือถือจะไม่ลดค่าใช้บริการจากบิลโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ในทางปฏิบัติ คงมีคนขอคืนน้อยมาก เพราะหลายคนไม่รู้ และคิดว่าเรื่องแบบนี้ยุ่งยาก เสียเวลา แต่ได้เงินคืนแค่ไม่กี่บาท

โพสต์ของเพจนี้ยังยกตัวอย่างว่า "ค่ามือถือ 500 ต่อเดือน ล่ม 1 ชม. จะได้เงินคืน (500➗30)✖️1/24 = 69 สตางค์ ซึ่งน้อยมากสำหรับฝั่งลูกค้า แต่สำหรับฝั่งผู้ให้บริการ ถ้ามีลูกค้าที่ล่มสัก 10 ล้านเลขหมาย เขา (ค่ายมือถือ) จะต้องชดใช้ 10 ล้าน✖️0.69 = 6.9 ล้านบาท"

ดังนั้น ค่ายมือถือจึงอาศัยช่องว่างไม่ลดค่าบริการให้ทันที แต่ให้เป็นภาระลูกค้าไปทำเรื่องขอลดเอง

นอกจากนี้ เพจ Law Inspiration เสนอว่า หาก กสทช. อยากปกป้องผู้บริโภคจริง ต้องออกกฎหมายสั่งเลยว่าถ้ากรณีสัญญาณล่มแบบนี้ ต้องหักค่าบริการให้ลูกค้าอัตโนมัติ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องร้องขอ หากค่ายใดฝ่าฝืนคิดเงินลูกค้า มีโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท และปรับต่อเนื่องอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะแก้ไขเสร็จ