สีสันจากยอดดอย...สู่ขอบจาน

สีสันจากยอดดอย...สู่ขอบจาน

นับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ.2512  

นับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรชีวิตของชาวเขาที่บ้านดอยปุย ใกล้พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ.2512

พระองค์ทรงพบว่าชาวเขาปลูกฝิ่นและมีฐานะยากจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ โครงการหลวง โดยทรงตั้งสถานีทดลองดอยปุย เป็นสถานีแรก และในปีเดียวกันนั้นก็ได้ตั้งสถานีเกษตรหลวงอ่างขางขึ้น เพื่อทดลองและค้นคว้าหาไม้ผลเขตหนาวที่เหมาะสมกับพื้นที่สูงบนยอดดอย และเพื่อให้ชาวเขาลดการปลูกฝิ่น ลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รักษาป่าไม้และต้นน้ำลำธาร

ถึงวันนี้ มูลนิธิโครงการหลวง ได้วิจัยและพัฒนาไม้ผลเมืองหนาวเพื่อให้ชาวเขานำไปปลูกสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรบนที่สูงอย่างยั่งยืน โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสืบสานพระราชปณิธานพระบิดาเช่นเดียวกัน

158205904325

         องุ่นไร้เมล็ด

และเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ มูลนิธิโครงการหลวง และ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ร่วมกันจัดงาน Royal Project Gastronomy Festival 2020 @Siam Paragon : Colors of Health หรือ สีสันแห่งยอดดอยสู่สุขภาพที่ดีของคนเมือง นำเสนอผลผลิตจากยอดดอยอันหลากหลาย ปลอดสารพิษ และมีประโยชน์ต่อสุขภาพสู่ผู้บริโภค โดยจะนำผลผลิตจากยอดดอยมาจำหน่าย ณ พาร์ค พารากอน ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2563

158205748967

        ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล, สยามพารากอน 

นอกจากนี้ ร้านอาหารต่าง ๆ ในศูนย์การค้าสยามพารากอน จะนำผักผลไม้และวัตถุดิบต่าง ๆ จากโครงการหลวง นำมาปรุงเป็นเมนูพิเศษในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย เพื่อให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศได้อร่อยเต็มอิ่มและมีสุขภาพดี จากพืชผักที่ปลูกแบบไร้สารพิษ และมีส่วนร่วมสนับสนุนเกษตรกรบนยอดดอยให้มีรายได้ มอาชีพอย่างยั่งยืน ดังพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ว่า...ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก

 

 

         

 

 

 

 

 

 

         

 

158211178580

  • สีสันจากยอดดอย...ดอกไม้กินได้

ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในฐานะเจ้าภาพสถานที่ พาขึ้นเหนือชมแหล่งผลิตพืชผักบนดอยสูง มีอาทิ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่, สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยแล้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

158205776880

     ดอกแนสเตอร์เตี้ยมกินได้

ปีนี้งานโครงการหลวง จัดเต็มในธีม “สีสัน” เช่น ดอกไม้กินได้ ที่กำลังอวดสีสันสะพรั่งที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ได้แก่ ดอกแนสเตอร์เตี้ยม (Nasturtium) ที่นิยมมากเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ดอกสีส้มสีเหลืองสดใสกับใบทรงกลมคล้ายใบแว่นแก้ว ทั้งดอกและใบมักประดับอยู่บนขอบจานโดยเชฟชาวตะวันตก ซึ่งรับประทานได้ ดอกแพนซี หรือดอกหน้าแมว สีหวานสดใส ดอกไม้กินได้เหล่านี้จัดอยู่ในหมวดผักอินทรีย์ ปลูกแบบออร์แกนิคและจัดส่งตามออร์เดอร์ไปตามร้านอาหารและโรงแรมต่าง ๆ ด้วยวิธีแพ็คในห้องเย็นใส่กล่องพลาสติกใส จัดเรียงทีละดอก ๆ รองด้วยทิชชู่เปียกเพื่อให้ความชุ่มชื้น

158205781590

     ดอกหน้าแมว หรือแพนซี 

  158205792236      

     ดอกผีเสื้อ หรือไดแอนธัส

ดอกแนสเตอร์เตี้ยมเป็นดอกไม้หลัก ปลูกได้ทั้งปี ส่วนแพนซี หรือดอกหน้าแมวชอบอากาศเย็น ยังมีดอกไม้สีสวยกินได้ชนิดอื่น ๆ ที่ปลูกกระจายอยู่รอบดอยบนพื้นที่สูง ได้แก่ ดอกผีเสื้อ (Dianthus), ดอกดาวเรือง, ดอกมาลโลว์, บีโกเนีย, แดนดิไลออน, ถุงมือจิ้งจอก (Foxglove), ลาเวนเดอร์, ผีเสื้อราตรี (Oxalis) เป็นต้น

 

  • บลูเบอร์รี่...สีม่วงรวมวิตามิน

บนพื้นที่สูงในสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง นักวิชาการ ณัฐทวี มาบางครุ พาชมแปลงทดลองปลูกต้นบลูเบอร์รี่ ไม้ผลเขตหนาว

“ก่อนหน้านี้ 4-5 ปี เคยทดลองปลูกได้ผลผลิตไม่ดีนัก ตอนหลังวงการเกษตรแพร่หลายขึ้น คนนิยมกินบลูเบอร์รี่ด้วย เทรนด์สุขภาพด้วย ทำให้มีการปรับปรุงสายพันธุ์บลูเบอร์รี่มากขึ้น จนสามารถปลูกในที่อากาศไม่ต้องหนาวเย็นมาก จนถึงปลูกในที่ไม่เย็นเลยก็ได้ รสชาติมีตั้งแต่หวาน หวานอมเปรี้ยว จนถึงเปรี้ยวจี๊ด แต่สายพันธุ์ที่โครงการหลวงนำมาปลูกมีรสหวานอมเปรี้ยว ในแปลงนี้มีอายุ 2 ปี ราวเดือนมีนา-เมษาจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ น่าจะได้ต้นละหนึ่งกิโลถึงกิโลครึ่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองหลังจากทำมา 4-5 ปี ต้องรอให้แน่ใจก่อนถึงส่งเสริมให้ชาวเขาปลูก แต่ที่หมอกจ๋ามและเชียงรายก็เริ่มปลูกบลูเบอร์รี่ได้บ้างแต่ไม่เยอะ เพราะอุณหภูมิที่นั่นได้ บลูเบอร์รี่ชอบอากาศเย็น อุณหภูมิไม่เกิน 35 องศา ถ้าสูงกว่านี้ต้นจะเริ่มช็อค เริ่มเหี่ยว ต้นจะหยุดดูดน้ำ และชอบดินที่เป็นกรด แปลงปลูกนี้ต้องให้ปุ๋ยถี่วันละครั้ง ๆ ละนิดหน่อย  การดูแลคือเรื่องระบบน้ำกับการให้ปุ๋ย”

158205813234

     แปลงปลูกบลูเบอร์รี่     

นักวิชาการบอกว่า บลูเบอร์รี่เป็นผลไม้ยอดนิยม หนึ่งต้นให้ผลผลิตราวกิโลกรัมเศษ และจะให้ผลนาน 15-20 ปี เป็นผลไม้สีม่วงเพื่อสุขภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด บลูเบอร์รี่กินสดก็อร่อย  ทำน้ำผลไม้ แยม และทำขนมได้หลากหลาย

 

  • สตรอว์เบอร์รี่...รูปหัวใจสีแดง

ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของ สตรอว์เบอร์รี่ บนที่สูงของบ้านนอแล ดอยอ่างขาง ชาวเขาเผ่าปะหล่อง (หรือดาราอั้ง) กมลศิษฐ์ ภัทรธีระ-ชุลี อวดไร่สตรอว์เบอร์รี่ขั้นบันไดของเขาซึ่งเพิ่งเก็บผลสตรอว์เบอร์ทรงหัวใจ ไซส์เท่าสตรอว์เบอร์รี่เกาหลีไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผานมา ตอนนี้กำลังรอผลผลิตรุ่นที่สอง

158205818462

       ชาวเขาผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี่ ที่ดอยอ่างขาง  

“รุ่นแรกเท่านั้นที่ให้ผลผลิตไซส์ประมาณไข่เบอร์ 3 สตรอว์เบอร์รี่ที่ผมปลูกคือพันธุ์ 80 เหมาะกับพื้นที่สูง 1,200 เมตรขึ้นไป ลูกใหญ่ส่งเข้าโครงการหลวง เริ่มจากผลิตไหลก่อนในเดือนเมษายน ถึงเดือนกรกฎาคมเกษตรกรจะนำไหลไปรอปลูกในเดือนสิงหาคม สตรอว์เบอร์รี่ก่อนปลูกต้องขึ้นแปลงก่อน อย่างน้อยต้องสูง 35 เซนติเมตรขึ้นไป จากพื้นที่เรายกสูงเพื่อป้องกันฝนและสิ่งสกปรกอื่น ๆ ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกที่เตรียมไว้ในโรงเรือน เมื่อคัดกล้าต้นไหลที่มีคุณภาพมาลงแปลง ต้องเลือกไหลที่ 2 ถึงไหลที่ 5 เพื่อให้ได้ผลดก ผลผลิตจะเริ่มออกชุดแรกกลางเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน พันธุ์ 80 เป็นพันธุ์หนักจะทิ้งช่วง ต้องมีความหนาว 500 ชั่วโมงขึ้นไปจะเกิดตาดอก ปีนี้ดอยอ่างขางหนาวจัดเกินไปทำให้ชะงักไปหน่อย แล้วไปเก็บผลผลิตอีกครั้งเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเก็บผลผลิตแล้วจะรื้อแปลงก่อนฝนมาแล้วลงปอเทือง หรือถั่วพุ่มดำ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน”

158205827436

         สตรอว์เบอร์รี่ไซส์ใหญ่ หวานฉ่ำเต็มคำ

  158205831289      

        ลูกเล็กก็หวาน ราคาย่อมเยา

สตรอว์เบอร์รี่ ยังครองใจคนรักผลไม้สดรสหวานอมเปรี้ยว โดยเฉพาะพันธุ์ 80 ที่มีลูกใหญ่ รสหวาน พื้นที่ปลูกบริเวณดอยอ่างขางมีประมาณ 120 ไร่ นอกจากนี้ก็ปลูกกระจายไปในหลายพื้นที่ ส่วนพันธุ์ 88 ปลูกในพื้นที่รอบดอยอ่างขางประมาณ 10 ไร่ ลูกเล็กกว่าแต่จุดเด่นคือมีเนื้อนิ่ม กลิ่นหอม และรสหวานฉ่ำ

ชาวไร่สตรอว์เบอร์รี่บอกว่าจำความได้ว่า แปลงปลูกผลไม้รูปหัวใจสีแดงนี้แต่ก่อนเคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่น (สมัยพ่อ) ต่อมาเปลี่ยนมาปลูกผัก ตามด้วยสตรอว์เบอร์รี่ที่ให้ผลผลิตและราคาดี ไซส์ขนาดเอ็กซ์ตร้า ราคากิโลกรัมละ 300 บาท เป็นผลไม้สีแดงชนิดเดียวที่ปลูกและมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืน

  

  •  ลินิน...เมล็ดเล็กประโยชน์เยอะ

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ได้วิจัยและทดลองปลูก ลินิน ได้ผลดี โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกลินินพันธุ์สีทอง เพื่อนำเมล็ดไปสกัดเป็นน้ำมัน มีคุณสมบัติมากมาย เช่น ทำน้ำหอม ทำหมึกพิมพ์ สีน้ำมัน น้ำมันฟอกหนัง และพลาสติก โดยทั่วไปเรารู้จักลินินว่าให้เส้นใยผลิตผ้าลินิน ทำเชือก กระดาษ วัสดุกันความร้อน พรมปูพื้น ฯลฯ แต่สายพันธุ์ที่ปลูกนี้เน้นใช้เมล็ด ใช้เวลาปลูก 120-150 วัน เกษตรกรก็จะใช้เคียวเกี่ยวแล้วนวดคล้ายการเกี่ยวข้าว หรือเกี่ยวมาวางบนผ้าใบแล้วเป่าให้แห้ง เมล็ดลินินจะอยู่ในกระเปาะรูปร่างเหมือนเมล็ดงา เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะปลูกปอเทืองหรือถั่วเพื่อบำรุงดิน หรือปลูกผักชนิดอื่น แล้วรอปลูกลินินช่วงปลายฝน

158205840266

     ต้นลินิน

158205842717          

      เมล็ดลินิน

น้ำมันลินินมีสรรพคุณมากมาย เช่น ต้านการอักเสบ ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดความดันโลหิต ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ต้านมะเร็ง ฯลฯ ลินินจัดเป็นธัญพืชหรือพืชไร่ที่ดูแลง่าย เหมาะกับพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 500700 เมตรขึ้นไป ขณะนี้เกษตรกรเริ่มปลูกมากขึ้นแถบขุนวาง แกน้อย อินทนนท์ ผลผลิตต่อไร่ 100 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 150 บาท ถือว่าเป็นพืชไร่ที่ให้ราคาดีและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด 

  • แรงบันดาลใจจากโครงการหลวง

สองเชฟจากร้านอาหารในสยามพารากอน หยิบแรงบันดาลใจจากผลผลิตของโครงการหลวง นำเสนอเมนูใหม่ โดย เชฟต้อม เชื้อ-นาหว้า แห่งร้าน สุกี้มาสะ (Suki Masa) แนะนำเมนู Chicken Roll with Winter Salad ที่นำไก่เบรส ไก่เบรสรมควัน ซุกกินี และเห็ดรวม ทำเมนูซูชิ และเมนูสลัดผักสด ๆ จากโครงการหลวง ได้แก่ ฟักทองจิ๋ว มะเขือเทศ เคปกูสเบอร์รี่ และผักสลัดต่าง ๆ รวมถึงดอกไม้กินได้ ครีเอทเป็นเมนูสลัดสีสวยกับน้ำสลัดสไตล์ญี่ปุ่น

158205852056

         เชฟต้อม จากร้านสุกี้มาสะ กับเชฟนิโคลัน ร้านแฮร์รอดส์ ที รูม

     

  เชฟนิโคลัส โบเรว จากร้าน แฮร์รอดส์ ที รูม (Harrods Tea Room) แนะนำเมนู Royal Pumpkin Crème Brulee ที่นำไอเดียสังขยาแบบไทยผสานเข้ากับคัสตาร์ดแบบตะวันตก โดยนำฟักทอง เมล็ดฟักทอง และฟักทองชิพแผ่นบางกรอบ เป็นส่วนประกอบหลัก ก่อนเสิร์ฟเชฟโรยน้ำตาลแล้วเบิร์นหน้าฟักทองเล็กน้อยแล้วปิดแผ่นทองคำเปลวดูสวยงาม เป็นของหวานที่ต้องเรียกหาชาอุ่น ๆ มาจับคู่กัน โดยเมนูพิเศษนี้พร้อมเสิร์ฟในช่วงจัดงาน Royal Project Gastronomy Festival 2020 เท่านั้น

158205858476

         ไก่เบรสกับสลัดฤดูหนาว (Chicken Roll with Winter Salad)

158205865851

        Royal Pumpkin Creme Brulee

        ปัจจุบันโครงการหลวง ได้ทดลองวิจัยจนสามารถปลูกฟักทองญี่ปุ่น ที่มีรสชาติหวาน เนื้อมันแน่น เช่นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เกษตรกรสามารถปลูกฟักทองญี่ปุ่น มันหวานญี่ปุ่น และมันม่วง ฟักทองจิ๋ว ฟักทองประดับ ฟักทองขาว  (เปลือกสีขาว) มะเขือม่วงก้านเขียวและก้านดำ ลูกใหญ่เนื้อหวาน ผักต่าง ๆ เช่น เบเบี้ฮ่องเต้ ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก ถั่วแดงหลวง ผลไม้ได้แก่ อโวคาโด มะม่วง และเสาวรส

158205892613

         ฟักทองญี่ปุ่น

       ผลผลิตเหล่านี้จะเดินทางจากยอดดอยสู่ใจกลางเมือง ให้ชาวเมืองได้ลิ้มรสพืชผักสด ๆ ให้อิ่มอร่อยและมีสุขภาพดี...

158205872646

      เคปกูสเบอร์รี่ประชันสตรอว์เบอร์รี่

158205877391

      สลัดมะเขือเทศกับดอกไม้กินได้

หมายเหตุ : Royal Project Gastronomy Festival 2020 จัดบริเวณพาร์ค พารากอน ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชมและช็อปผักผลไม้สดและผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวง อาทิ เคปกูสเบอร์รี่ สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์พระราชทาน บลูเบอร์รี่ ฟักทองญี่ปุ่น ฟักทองจิ๋ว มะเขือม่วง อโวคาโด องุ่นไร้เมล็ด ผักนานาชนิด ชาอินทรีย์ ดอกไม้กินได้ กุหลาบตัดดอก และชิมเมนูใหม่ที่ออกแบบพิเศษจากร้านอาหารในศูนย์การค้าฯ มี อาทิ ร้าน Suki Masa, Harrods, Wang Jia Sha, Brix Dessert Bar, Boon Tong Kee, แสนแซ่บ, Tudari, Chilli Thai, Pot Ministry, Four Sesons และในส่วนมาร์เก็ตจะมีร้านป๊อปอัพจาก Greyhound Café ให้บริการระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2563