'กรีนดีล' เชื่อมการค้า 'อาเซียน-อียู'

'กรีนดีล' เชื่อมการค้า 'อาเซียน-อียู'

สหภาพยุโรป หรืออียู ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมและเศรษฐกิจสีเขียว เห็นได้จากนโยบาย "กรีนดีล" ที่มุ่งจัดการสภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นมาตรการความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร ด้านการค้าการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“นโยบายกรีนดีล” (European Green Deal) เป็นหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบขึ้นกล่าวในการประชุมหารือระดับสูงของการประชุมอาเซียน-อียูด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ASEAN-EU Dialogue on Sustainable Development) ครั้งที่ 2 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยมี ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ทำหน้าที่ประธานร่วมกับ ยุตต้า อูรปิไลเนน กรรมาธิการยุโรปด้านหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ

ดอน กล่าวว่า อียูเป็นพันธมิตรของอาเซียนในการดำเนินงานวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันประชาชนในอาเซียนมีรายได้ต่อหัวเติบโตอย่างน่าทึ่งสูงถึง 33 เท่า  นับตั้งแต่รวมตัวกันในระดับภูมิภาค และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก และมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ4 ของโลกในปี 2573 

158210811969

"อาเซียนมองว่า คนรุ่นใหม่เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง และจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับอียูก็ให้โอกาสกับกลุ่มนิวเจนเนอเรชั่นได้แสดงความคิดเห็นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมสีเขียวไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวนโยบายกรีนดีลของอียู ประเทศไทยกำลังใช้แบบจำลองเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นรากฐานสำคัญต่อเศรษฐกิจ" รัฐมนตรีต่างประเทศกล่าว  

ดอน ชี้ว่า อียูให้ความสำคัญต่อนโยบายกรีนดีลอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นแนวโน้มความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่า เป็นความท้าทายของอาเซียน ในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้เป็นที่ยอมรับของอียู

กรีนดีล เป็นนโยบายที่กำหนดขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับสภาวะโลกร้อนและลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอียู โดยมุ่งขับเคลื่อนยุโรปสู่สังคมไร้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2593 และอียูต้องการก้าวไปเป็นผู้นําในเวทีโลกด้านอุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีสะอาด

158210816555

หนึ่งในมาตรการสำคัญที่ระบุในนโยบายกรีนดีลที่อาจส่งผลต่อความร่วมมือด้านการค้า นั่นคือ “ข้อเสนอการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ณ ชายแดน” โดยที่อียูเพิ่มมาตรการต่าง ๆ ในการรักษา สิ่งแวดล้อม เพราะอยากเห็นประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกแสดงเจตจํานงค์ที่สอดคล้องกัน และอียูต้องการป้องกันเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ นโยบายกรีนดีล ประกอบด้วยหลักการ 10 ข้อสำคัญๆ ได้แก่ 1.ตั้งเป้าการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งระเบียบวาระดังกล่าวจะถูกบรรจุอยู่ในกฎหมาย ว่าด้วยสภาพภูมิอากาศซึ่งจะถูกนําเสนอในเดือน มี.ค. 2563 

2.แผนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนฉบับใหม่ จะครอบคลุมประเด็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน โดยจะอธิบายถึงวิธีการผลิตที่ลดการใช้ วัสดุและทรัพยากร และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการนํากลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล เช่น แบตเตอรี่ นอกจากนี้ ยังให้ความสําคัญกับอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และสิ่งทอ อีกทั้งเตรียมการสำหรับผลิตวัสดุเหล่านี้ด้วยพลังงานสะอาด อย่างเช่น ไฮโดรเจน ให้ได้ภายในปี 2573 

3.การปรับปรุงอาคารอย่างน้อย 2 - 3% จากปัจจุบัน เพื่อลดการใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์  4.สร้างสังคมไร้มลพิษ ไม่ว่าจะเป็นอากาศ ดิน และน้ำ โดยจะครอบคลุมถึงกลยุทธ์การจัดการสารเคมี 5.ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งภายใต้แผนกลยุทธ์ใหม่ อียูต้องการเป็นผู้นําในการพัฒนามาตรการเพื่อจัดการกับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น แผนกลยุทธ์ป่าไม้ฉบับใหม่ที่มุ่งเพิ่มจำนวนปลูกป่า หรือกฎการใช้ฉลากเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีกระบวนการผลิต

158210822034

6.แผนกลยุทธ์เกษตรกรรมสีเขียว เพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งจะมีการพิจารณาลดการใช้ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยสารเคมี และยาต้านจุลชีพ 7.ภาคการขนส่ง ปัจจุบันเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่ง และกระตุ้นส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ผ่านเป้าหมายการติดตั้งสถานีจ่ายไฟจํานวน 1 ล้านสถานีทั่วยุโรปให้ได้ภายในปี 2563  นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสหกรรมการบิน การเดินเรือ และ การขนส่งโดย ยานยนต์ขนาดใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถขับเคลื่อนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าได้

8.อียูระดมเงินตั้งกองทุน Just Transition Mechanism จํานวน 100 ล้านล้านยูโร เพื่อช่วยประเทศ ภูมิภาค และภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงสุด ที่ยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็น แหล่งพลังงานหลัก เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม 9.การวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม สนับสนุนแผนนโยบายกรีนดีล โดยร้อยละ 35 ของทุนวิจัยจะนําไปส่งเสริมการวิจัยด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม และ 10.การสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ มุ่งใช้มาตรการทางการทูตสนับสนุนแผนนโยบายกรีนดีล หวังให้นานาประเทศปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดรับกับเศรษฐกิจสีเขียว

158210824816

ด้าน อูรปิไลเนน กล่าวว่า อาเซียนเป็นพันธมิตรใกล้ชิดและมีความร่วมมือกันมากกว่า 4 ทศวรรษ ซึ่งอียูต้องการยกระดับความร่วมมือกับอาเซียนขึ้นไปอีกขั้น ผ่านนโยบายกรีนดีล นำไปสู่การเปลี่ยนสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมถึงการบริโภคและผลิตสินค้า การค้าและการลงทุน นำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

นอกจากนี้ อียูยังมีโครงการที่หลากหลายช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึงให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น เปิดตัวโครงการ“Smart Green ASEAN Cities” เพื่อส่งเสริมเมืองอัจฉริยะและชุมชนอาเซียนสีเขียวที่ยั่งยืน ซึ่งควบคุมใช้งานด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งหมด ในปลายปีนี้