'จิสด้า' รุกวางรากฐาน 'ข้อมูลสำรวจรายแปลง' พลิกฟื้นผืนป่าน่าน

'จิสด้า' รุกวางรากฐาน 'ข้อมูลสำรวจรายแปลง' พลิกฟื้นผืนป่าน่าน

"จิสด้า" เดินหน้าจัดทำ "ข้อมูลสำรวจรายแปลง" ดึงภาพถ่ายดาวเทียม-เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเพื่อการประยุกต์ใช้ในพื้นที่จังหวัดน่าน นำร่องต้นแบบโมเดล "น่านแซนด์บ๊อกซ์" ขจัดภูโกร๋น

ภารกิจ “รักษ์ป่าน่าน” นับเป็นแนวทางการฟื้นฟูป่าในพื้นที่จังหวัดน่าน นำร่องด้วยโมเดล “น่านแซนด์บ๊อกซ์” ในการพัฒนา “สร้างป่า สร้างรายได้” ให้ทำได้จริง ภายใต้การขับเคลื่อนของหัวเรือใหญ่อย่าง “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตัวแทนภาคเอกชนที่มองเรื่องการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องสำคัญ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เดินทางไปเมืองน่านบ่อยครั้ง และได้มองเห็น “ปัญหาสำคัญของประเทศ” จากภูเขาหัวโล้นที่เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ เพราะป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังเล็งเห็นว่าหากทิ้งปัญหาพื้นที่ทำกินของราษฎรในจังหวัดน่านที่มีประเด็นทางด้านกฎหมายจะกลายเป็นปมปัญหาเรื้อรังที่ไม่มีทางออก จึงได้มีการออกความเห็นให้มีการทดลองวิธีแก้ปัญหารูปแบบพิเศษ ด้วยการรวมพลังกับภาคประชาชน ภาครัฐ ที่การดำเนินงานมีคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และภาคเอกชน ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชาติที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง เพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่น่าน

158204070115

ข้อมูล” กุญแจสำคัญ

ธัญวรัตม์  อนันต์  หัวหน้าฝ่ายผลิตชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า กล่าวว่า เนื่องด้วยจังหวัดน่านมีลักษณะพิเศษเพราะพื้นที่ 85% ถูกประกาศให้เป็นป่าตามกฎหมาย จึงทำให้พื้นที่ทำกินของราษฎรมีเพียง 15% แต่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กระแสทุนนิยมและระบบเกษตรอุปถัมภ์ทำให้เกิดการรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยวค่อนข้างมาก เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

หลายองค์กรต่างยื่นมือเข้ามาเพื่อ “ฟื้นฟูน่าน” เช่นเดียวกันกับจิสด้า โดยเราเล็งเห็นว่าการที่จะขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆได้นั้นต้องอาศัย “ข้อมูล” เป็นสำคัญ ด้วยโจทย์คือพื้นที่ป่าที่เสียไป จะกลับมาพร้อมๆ กับการกินดีอยู่ดีของประชาชนในจังหวัดนี้ เพื่อกอบกู้วิถีคนอยู่กับป่า ให้ประชาชนในพื้นที่อยู่รอดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างแท้จริง

158204071593

 “ความร่วมมือจัดทำข้อมูลรายแปลงที่ทำกินในเขตป่าตามกฎหมาย 15 อำเภอ โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินในเขตป่าสงวนฯ ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่ 1-5 โดยเกษตรกร ผู้นำชุมชน ทีม GIS ชุมชน กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ และจิสด้า ซึ่งที่ผ่านมาการนำเข้าข้อมูลมีรูปแบบแตกต่างกันไม่มีแพลตฟอร์มที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงทำให้ข้อมูลมีความซ้ำซ้อน ดังนั้นมาตรฐานการนำเข้าข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญจึงได้มีการกำหนดรูปแบบการนำเข้าข้อมูลให้เหมือนกัน เป็นเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่นำไปใช้ให้เหมาะสม

 

ผนึกชุมชนสร้างฐานข้อมูลสำรวจรายแปลง

ธัญวรัตม์  อธิบายเสริมว่า จากเดิมต้องใช้คนจากภาครัฐเดินตีแปลงซึ่งจะใช้ระยะเวลานาน จิสด้าจึงได้ร่วมกับ ทีมงานน่านแซนด์บอก และชุมชนในพื้นที่เพื่อร่วมพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีความรู้ในการนำเข้าข้อมูลเชิงพื้นที่ และจัดทำเป็นฐานข้อมูลสำรวจพื้นที่ทำกินรายแปลงที่จะมอนิเตอร์ได้ง่าย บทบาทของจิสด้าจึงเป็นการนำข้อมูลภาพถ่ายไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชต ภาพถ่ายทางอากาศ ในช่วงปีต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบ ยืนยัน การใช้ที่ดิน ที่ทำกินของชาวบ้าน เพื่อที่จะกำหนดมาตรการจัดสรรที่ทำกินการส่งเสริมในเรื่องของอาชีพ โดยเราไปวางมาตรฐานการนำเข้าข้อมูล รวมทั้งโครงสร้างข้อมูลทั้งหมด รวมถึงดีไซน์ออกแบบสอบถามร่วมกับชุมชน

158204072916

การจัดทำข้อมูลสำรวจรายแปลงจะทำให้เห็นขอบเขตที่ทำกินแต่ละครัวเรือนที่ชัดเจน ใช้อ้างอิงทางกฎหมายไม่ได้ แต่เห็นภาพในเชิงการจัดการ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานในภาพรวมดังนี้คือ

1.จิสด้า ถ่ายทอดองค์ความรู้/อบรม ทำความเข้าใจด้านการจัดทำข้อมูลรายแปลงด้านภูมิสารสนเทศ และ Excel ให้กับทีมพิกัดรายแปลง ซึ่งเป็นทีมจากพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อให้การจัดทำข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด

2.ทีมพิกัดรายแปลง เป็นทีมในพื้นที่ลงไปสำรวจและจัดทำข้อมูลรายแปลง โดยชาวบ้านแต่ละคนจะต้องมีการกรอกข้อมูลตามแบบสอบถาม และจะมีทีมพิกัดรายแปลงที่ได้รับการฝึกปฏิบัติการใช้งานโปรแกรม GIS เพื่อวาดรูปแปลง โดยวาดตามแนวขอบแปลงที่เห็นจากภาพถ่าย ซึ่งจะเป็นข้อมูลตั้งต้นที่จะแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าได้ โดยจะเห็นกรอบของพื้นที่ทำกิน และพื้นที่ป่าชัดขึ้น

3. จิสด้า ตรวจสอบข้อมูลเชิงพื้นที่และข้อมูลเชิงบรรยาย ที่จัดเก็บข้อมูลเชิงบุคคล ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รวมไปถึงหนี้สินและรายได้ โรคภัยไข้เจ็บ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการวิเคราะห์ในส่วนของภาพรวมของคนที่ทำกินอยู่ในเขตป่าเป็นอย่างไรบ้าง จิสด้า วางโครงร่างทั้งหมดของการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่มีการซ้อนทับกัน เมื่อรวมกันหากเกิดการซ้อนทับทีมพิกัดรายแปลงก็จะลงไปเคลียในพื้นที่และแก้ไขให้ถูกต้อง

4. ติดตาม ให้คำปรึกษา แนะนำแก้ปัญหาด้านเทคนิคและรูปแบบของการจัดทำข้อมูลสำรวจรายแปลง

5. เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ก็จะถูกส่งไปให้ทางชุมชนยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าถูกต้องหรือไม่ จากนั้นทางชุมชนก็จะส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ข้อมูลทั้งหมดที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานหรือชุมชน นำความรู้ด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซัคเซส 1.3 แสนแปลง จาก 15 อำเภอ

“จากข้อมูลอ้างอิงตัวเลขของน่านแซนด์บ็อกซ์พบว่าพื้นที่จังหวัดน่านทั้งหมดมี 7,601,930 ไร่  พื้นที่ป่าสงวนตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2507 มี 6,435,792 ไร่ คิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งจังหวัดน่าน ต่อมาปี 2559 พื้นที่ป่าสงวนคงเหลือ 4,564,996 ไร่ หรือป่าหายไป 1,870,796 ไร่  คิดเป็น 28% ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลสำรวจรายแปลงของจังหวัดน่าน ทำให้จังหวัดน่านสามารถรวมจำนวนแปลงที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำแล้วทั้งสิ้นจำนวน 1.3 แสนแปลง และมีการจัดทำแผนที่แบบรายแปลง รายตำบล รายอำเภอ และรายจังหวัด จำนวนกว่า 2 หมื่นแผ่น โดยในกระบวนการใช้ระยะเวลารวมกว่า 1 ปี

ด้านอรพรรณ เฉลิมศิลป์  นักภูมิสารสนเทศ อธิบายต่อไปว่า ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาน่านแซนด์บ๊อกซ์ ซึ่งใช้ พรบ.คทช เป็นแนวทางในการดำเนินงาน นั้น มีการสำรวจข้อมูลรายแปลงในที่ดินป่าตามกฎหมาย จังหวัดน่านเพื่อแก้ปัญหาหลัก คือประเด็นการใช้ที่ทำกินของเกษตรกร ให้มีความชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ทำกิน การมีแนวเขตที่ทำกินที่ชัดเจน จะช่วยให้ชุมชนตระหนักถึงการระวังรักษาการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างรู้คุณค่าและช่วยกันดูแลสอดส่องภายในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งจังหวัดน่าน ยังเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ที่สมบูรณ์ หากชุมชนพอใจต่อการบริหาร และจัดสรรทรัพยากร เราจะมีชุมชนทั่วทั้งจังหวัดน่านที่จะช่วยดูแลแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

158204075027

ขจัดภูโกร๋น’ ดูแลป่า-คน-ยกระดับเกษตร

เมื่อการดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านภูมิสารสนเทศสู่ชมชน รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบ ข้อมูลรายแปลงให้เป็นมาตรฐานในพื้นที่จังหวัดน่านสำเร็จจนกระทั่งกลายเป็นฐานข้อมูลที่ชุมชนจะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และบริหารจัดการได้เอง อาจจะนำเก็บในคลังและต่อยอดสู่ด้านอื่นๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพ การพัฒนาแห่งน้ำ ฐานข้อมูลในเรื่องของความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ ภายใต้การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล

และในปีนี้ก็จะเป็นปีที่ทุกภาคส่วนจะนำองค์ความรู้ทุกศาสตร์มาปรับเปลี่ยนวิธีทำกินให้เกษตรกร โดยจะผลักดันให้ปลูกพืชทางเลือก ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูง พัฒนาระบบขนส่งและการจัดเก็บสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งสร้างยี่ห้อสินค้าน่านด้วย โดยน่านแซนด์บ๊อกซ์จะมีการระดมองค์ความรู้จากทุกศาสตร์มาพัฒนาพืชทางเลือกที่มีคุณค่าและมูลค่าสูง เพื่อผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต จนเกษตรกรน่านสามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง” อรพรรณ กล่าว

“น่านแซนด์บ๊อกซ์” จึงถือเป็นมิติแห่งการร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ที่เกิดจากการมองเห็นปัญหาร่วมกัน หากมีการร่วมมือกันอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนจะสามารถสร้างอาชีพการเกษตรอย่างยั่งยืนให้ราษฎรได้ แต่กระนั้นหากมีการบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างการบ่มเพาะองค์ความรู้ในด้านภูมิสารสนเทศ (GIS) เพื่อให้จัดทำข้อมูลเชิงพื้นที่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้แก่นักศึกษาหรือบัณฑิตพันธุ์ใหม่

เนื่องจากมหาวิทยาลัยของภาครัฐอย่าง “ราชภัฏ” มีอยู่เกือบทุกพื้นที่หากมีการเรียนรู้ GIS อย่างจริงจัง และสามารถจัดทำข้อมูลเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นโมเดลต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคเช่นกัน และแม้ว่าช่วงแรกเริ่มชาวบ้านในพื้นที่อาจจะยังไม่เข้าใจกับกระบวนการทำงานนักแต่เราในฐานะผู้เปลี่ยนแปลง จะต้องแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เรากระทำไม่ใช่แค่เพื่อช่วยเพียงตัวเขาแต่มันคือการช่วย “คนทั้งประเทศ” ให้มีธรรมชาติคงอยู่ให้ลูกหลานได้เห็นสืบไป