กรมชลฯ ระดมผันน้ำ ฝ่าวิกฤติแล้งตะวันออก

กรมชลฯ ระดมผันน้ำ ฝ่าวิกฤติแล้งตะวันออก

"อีอีซี" ต้องการใช้น้ำในช่วงแล้งรวม 430 ล้าน ลบ.ม.แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำ 410 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังขาดอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงต้องหาน้ำส่วนที่ขาดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกฝ่าย

ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า แผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกได้มีการตกลงร่วมกันระหว่างผู้ใช้น้ำทั้งหมดกำหนดให้ตั้งคณะทำงานคีย์แมนวอร์รูมในการบูรณาการทุกภาคส่วนและประชุมทุก 15 วัน ดังนั้น การบริหารน้ำภาคตะวันออก โดยเฉพาะเขตอีอีซีจะไม่ขาดแคลนน้ำและประชาชนต้องมีน้ำอุปโภคบริโภค 

ทั้งนี้ น้ำภาคตะวันออก จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลักษณะของโครงข่ายน้ำ คือ 1.การผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างอ่างเก็บน้ำดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ จ.ระยอง รวม 175 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศและอุตสาหกรรมถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ รวม 156 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะเหลือน้ำ 19.4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อผันเข้าคลองวังโตนด-อ่างประแสร์

2.น้ำที่มาลงอ่างประแสร์ จะเชื่อมกับหนองค้อและอ่างบางพระ จ.ชลบุรี ปัจจุบันมีน้ำ 31.9 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการเพื่ออุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม ทำให้ต้องผันน้ำจากคลองหลวง ลงคลองพานทอง อีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร 

3.การควบคุมน้ำที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งแบ่งออกเป็น ฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ซึ่งใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองสียัดและคลองระบม ซึ่งมีน้ำอยู่รวม 52.1 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่คาดว่าช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ คาดว่าจะมีน้ำไหลลงอ่าง 72.1 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงกว่าความต้องการใช้ที่ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นยังมีน้ำเกินความต้องการ 12.1 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนฝั่งขวามือของแม่น้ำบางปะกง ผันจากเจ้าพระยาเข้ามาช่วยได้ ซึ่งจะใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงคาดว่าน้ำจะเพียงพอกับความต้องการถึงเดือน ก.ค.นี้

158203426774

สุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานทำความตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดเพื่อขอผันน้ำข้ามลุ่มน้ำตามกฎหมายใหม่ ทั้งนี้ จะผันจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 1-25 มี.ค.นี้ ซึ่งอ่างประแสร์เป็นอ่างหลักส่งน้ำให้อีอีซี ส่วนอ่างคลอง

ประแกดมีความจุ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำใช้การได้ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่จะใช้น้ำ 15-20 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร จึงมีน้ำที่จะช่วยพื้นที่อีอีซีได้ แต่ระหว่างผันหากปริมาณน้ำกระทบต่ออ่างจะหยุดทันที

ส่วนน้ำที่ยังขาดอีก 10 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมาจากที่ประชุมคีย์แมนวอร์รูม ขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรมและการประปาทุกสาขาลดใช้น้ำลง 10% และบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ ได้จัดหาแหล่งน้ำดิบสำรอง 18 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมปรับปรุงระบบ-สูบกลับ เพื่อเติมน้ำให้อ่างหนองปลาไหล วันละ 1.0-1.5 แสน ลูกบาศก์เมตร 

รวมทั้งปรับปรุงระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อเติมอ่างประแสร์อีก 10 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเร่งให้เสร็จในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้ รวมทั้งเร่งเชื่อมท่อประแสร์-คลองใหญ่ และเชื่อมท่อประแสร์-หนองปลาไหล ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อลดการสูญเสียน้ำ 10-20 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ที่ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างคลองหลวงมาใช้แทนน้ำที่ขาดจากอ่างบางพระนั้น จะเร่งขุดลอกคลองและระบายน้ำจากอ่างคลองหลวงมาที่สถานีสูบน้ำพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อสูบมาเก็บที่อ่างบางพระ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร การเชื่อมโยงโครงข่ายนี้จะมีน้ำพอต่อความต้องการใช้ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ และคาดว่าจะมีฝนในช่วงเปลี่ยนฤดูคาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอีก 50 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้

ร่มไทร ทิพยเศวต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในขณะนี้ ภาคอุตสาหกรรมใน จ.ฉะเชิงเทราได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาก เนื่องจากมีน้ำอุปโภค บริโภคไม่เพียงพอจนต้องมีการเปิด ปิดน้ำเป็นเวลา และน้ำที่เข้ามาบางส่วนก็เป็นน้ำกร่อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ระบบชิลเลอร์ (ระบบทำน้ำเย็น) และระบบบอยเลอร์ (หม้อไอน้ำ) ที่จำเป็นต้องใช้น้ำจืดที่มีคุณภาพสูง หากเป็นน้ำกร่อยก็จะกระทบต่อเครื่องจักรเหล่านี้

โดยในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ก็ได้เร่งแก้ปัญหาเชิญทุกหน่วยงานเข้ามาหารือ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมขอให้บริษัทอีสท์ วอเตอร์ เพิ่มการจ่ายน้ำให้ จ.ฉะเชิงเทรา จากปัจจุบันที่มีปริมาณ 1 หมื่น เพิ่มเป็น 3 หมื่นลูกบาศก์เมตร แต่อีสท์ วอเตอร์ ได้เจรจาขอจ่ายน้ำเพียง 1.5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ ส.อ.ท. ยืนยันว่าต้องไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบผลเจรจาความคืบหน้าว่าสรุปแล้ว อีสท์ วอเตอร์จะจ่ายน้ำให้เท่าไร

“โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ และไฟฟ้า เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ อีอีซี โดยเฉพาะ จ. ฉะเชิงเทรา ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองทั้งเมืองเก่า และเมืองใหม่ ให้เป็นแหล่งที่พักอาศัยใน อีอีซี ซึ่งหากยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ไฟฟ้า แล้ว ก็จะพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้ยาก”

โดยปัญหาภัยแล้งใน จ. ฉะเชิงเทราในปีนี้ ถือได้ว่ามีความรุนแรงสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี โดยในช่วงต้นปีทางจังหวัดฉะเชิงเทราคาดว่าจะมีน้ำใช้อย่างเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นแต่ละฝ่ายก็ต้องพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ผ่านพ้นภัยแล้งนี้ไปได้