'นาโนเทค' หนุนเอกชนต่อยอดงานวิจัย สู่ตลาดโลกใน 'nano tech 2020'

'นาโนเทค' หนุนเอกชนต่อยอดงานวิจัย สู่ตลาดโลกใน 'nano tech 2020'

นาโนเทค สวทช. นำเอกชนเปิดช่องทางขยายนวัตกรรม เติมความรู้ในงานนิทรรศการนานาชาติ nano tech 2020 “หมึกนำไฟฟ้าผสมกราฟีน” จากความร่วมมือของเฮเดล-ไออาร์พีซี ปูทางต่อยอดวัสดุนาโนสู่เชิงพาณิชย์ ด้านพรีเมียร์ โพรดักส์ เห็นภาพใหญ่การใช้นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี

วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานนิทรรศการนานาชาติ nano tech 2020 ณ ศูนย์นิทรรศการนานาชาติ Tokyo Big Sight กรุงโตเกียว เป็นงานนิทรรศการด้านนาโนเทคโนโลยีที่สำคัญ ในทุกปีจะมีผู้เข้าชมนิทรรศการราว 40,000 คน ผู้ร่วมจัดนิทรรศการประมาณ 500 คูหา สำหรับประเทศไทยแล้ว นาโนเทคเป็นหน่วยงานหลักโดยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน นำนวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยีมาจัดแสดงตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2552  นับเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

158203372763

โดยในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Nanotechnology Realizing to the Super Smart Society” ซึ่งนิทรรศการใน Thailand Pavilion นั้น จัดแสดงนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีทางด้าน Super Smart Society อันประกอบด้วย 17 นวัตกรรมทางด้าน smart living, smart energy, smart materials และ smart environment นอกจากนี้ยังนำเสนอความสามารถและศักยภาพทางด้านระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศไทย ที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนการวิจัยและพัฒนาในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) อีกด้วย

เฮเดล-ไออาร์พีซี ปั้นหมึกนำไฟฟ้ากราฟีนสู่เชิงพาณิชย์

นายคมกฤช สัจจาอนันตกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮเดล เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เฮเดลที่มีความเชี่ยวชาญด้านกราฟีน และต่อยอดไปยังวัสดุนาโนอื่น ๆ ทำให้บริษัทเข้าร่วมงานนิทรรศการนานาชาติ nano tech ที่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องมา 4 ปีแล้ว และในปีนี้ ได้นำเสนอ “หมึกนำไฟฟ้ากราฟีนอินทรีย์ (Organic Conductive ink)” ที่ร่วมพัฒนากับบริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) มากว่า 3 ปี

158203374278

หมึกนำไฟฟ้ากราฟีน มาจากแนวคิดที่จะร่วมกันพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศไทยมากกว่าที่จะไปที่อังกฤษ ในส่วนของเฮเดล พยายามเน้นด้าน Functionalized graphene สำหรับงานวิจัย โดยเน้นเรื่องของการรับจ้างและงานบริการ ส่วนของผลิตภัณฑ์นั้น ไออาร์พีซีเป็นพันธมิตรสำคัญในด้านการผลิต เป็นฐานของการผลิตและขาย มุ่งเน้นการผลิตจำนวนมาก (Mass Production)” นายคมกฤชกล่าว

ด้าน ดร.ชัชวินทร์ ช่างทอง รักษาการผู้จัดการส่วน ส่วนวิจัยวัสดุนาโน ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยวัสดุและเคมีภัณฑ์ บริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ไออาร์พีซีตระหนักว่า ธุรกิจน้ำมันและพลาสติกมีความผันผวน จึงเป็นภารกิจของทีมวิจัยที่จะมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ผ่านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งความท้าทายของธุรกิจใหม่คือ หากทำคนเดียวอาจจะช้าหรือยาก การมีพันธมิตรอย่างเฮเดลจะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับการเข้าร่วมงานนิทรรศการนานาชาติ nano tech 2020 กับนาโนเทค สวทช. ก็เป็นเวทีสำคัญในการเปิดตัวเราออกมาในตลาดให้คนรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

          “ในส่วนการขยายสเกลงานวิจัยสู่การผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ในแผนงานที่วางไว้นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการถ่ายทอดงานวิจัยที่อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการให้เข้าสู่ระดับความพร้อมของเทคโนโลยี ที่เริ่มมุ่งเน้นเฉพาะด้านมากขึ้น จะเป็นสิ่งที่เราต้องทำในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า” ดร.ชัชวินทร์กล่าว

เปิดช่องทาง สร้างพันธมิตรเทคโนโลยี

ดร.ชัชวินทร์ ยังได้กล่าวเสริมว่า เราพยายามจะนำระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) มากางดูและประเมินตัวเราว่า ทำได้ดีในด้านการวิจัยและพัฒนา คือ 1-4 แล้ว โดยระยะที่ 5 หรือจะ 4 ข้ามมา 5 ถือว่าเป็นจุดยากจุดหนึ่ง ยิ่งในระยะที่ 5-9 จะต้องใช้ความสามารถด้านวิศวกรรมหรือธุรกิจมากกว่าที่จะเป็นวิทยาศาสตร์เพียงด้านเดียว ดังนั้นถ้ามองถึงไทม์ไลน์ในวันนี้ ถือว่า เราทำได้ดีแล้วกับระยะที่ 4 ฉะนั้น ในระยะถัดไปเราต้องทำการขยายสเกล นั่นคือจุดที่ 1 แต่สำหรับผลิตภัณฑ์ที่เรากำลังพูดถึงอย่างหมึกนำไฟฟ้ากราฟีน ที่เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ในช่วงแรก เราอยากจะออกให้ได้เร็วที่สุดภายใน 1 ปี เพื่อเข้าสู่ระดับโรงงานต้นแบบและทดสอบกับลูกค้าหรือพันธมิตร การเข้าร่วมในงานนี้ ก็เป็นการมองหาคนที่เขาอยากเป็นพันธมิตรเทคโนโลยีกับเรา ทำงานร่วมกัน เอาตัวอย่างไปทดสอบ ซึ่งอนาคตจะเกิดเป็นความร่วมมือทางธุรกิจก็ได้

“โอกาสที่ดีที่ได้จากการร่วมงานครั้งนี้อีกส่วนหนึ่ง คือได้พบว่า คนที่มาร่วมงานนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักวิจัย ซึ่งหากเขามีงานวิจัย นวัตกรรม หรือสารเคมีที่ดี แต่ติดขัดในการขยายสเกลการผลิต เราจะเป็นช่องทางหนึ่งที่นักวิจัยสามารถเดินมาหาเรา ทั้งเฮเดลและไออาร์พีซีเองก็พร้อมที่จะพัฒนา เพราะจริง ๆ แล้วการทำ Mass production มันมีกระบวนการ ขั้นตอน อาจจะต้องปรับจูนต่าง ๆ ใช้เวลาในการพัฒนาพอสมควร ดังนั้น อันนี้จึงเป็นจุดแรกในการที่จะบอกว่า เรามาปักหมุด และเราเปิดกว้าง เป็นเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมแบบเปิด (Open Technology/ Innovation) ให้คนเข้ามาทำงานร่วมกัน ดร.ชัชวินทร์กล่าว

ฝ่ายกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮเดล เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ารเข้าร่วมงานอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ทำให้เห็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ตะวันตกเดินเข้ามาหาเอเชียมากขึ้น ในขณะที่นาเทคโนโลยีก็ขยับออกสู่เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น ภายใน 1-2 ปี เราจะเริ่มเห็นนาโนเทคโนโลยีออกสู่ตลาดในเชิงแอพพลิเคชั่น นวัตกรรมหมึกนำไฟฟ้ากราฟีนก็เช่นกัน

 

เพิ่มโอกาสต่อยอดวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ด้าน นายสมชาย โรจน์อัศวเสถียร กรรมการผู้จัดการ-พลังงานสะอาด สายงานธุรกิจสิ่งแวดล้อม บริษัท พรีเมียร์ โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ แบ่งออกเป็น 6 สายงานธุรกิจ ได้แก่ อาหาร การเงิน ระบบงานสารสนเทศ สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด โรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสายงานสนับสนุน และมูลนิธิต่างๆ อาทิ มูลนิธิยุวพัฒน์ ร้านปันกัน มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิเพื่อคนไทย

สายงานที่ดูแลอยู่นั้น เป็นกลุ่มธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่แยกออกเป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ น้ำและระบบบำบัดน้ำเสีย, วัสดุก่อสร้างในกลุ่มวัสดุซีเมนต์เบาและพลังงานในธุรกิจโซลาร์ฟาร์ม (Solar farm) ซึ่งต้องการนวัตกรรมเข้าไปช่วยทั้งในเรื่องคุณค่า คุณภาพ และประสิทธิภาพ ทำให้เรามีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยแห่งชาติของ สวทช. อยู่ รวมถึงนาโนเทค ที่มีโครงการวิจัยร่วมกันในเรื่องสารเคลือบแผงโซลาร์เซล ซึ่งบริษัทยังสนใจงานวิจัยอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สารเคลือบพาราโบริกและเพอร์รอฟสไกต์

158203377442

ปัจจุบัน นาโนเทครวมไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ ที่สังกัด สวทช. ทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เรามีการพบปะพูดคุยมีความร่วมมือทางธุรกิจกับ สวทช. อยู่ครั้งสองครั้งแล้ว ทำให้สามารถทำงานเชิงรุกในลักษณะที่เปลี่ยนจากงานวิจัยมาเป็นงานทางด้านในเชิงธุรกิจได้ ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสในการแข่งขัน รวมถึงเพิ่มโอกาสการต่อยอดใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ในรูปของการใช้งานรูปแบบต่างๆ โดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ สามารถลดเวลา ค่าใช้จ่าย เพราะความชำนาญของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราเป็นโรงงานผลิต เป็นผู้ค้าขาย ถ้าสามารถที่จะผนึกกำลังกับฝ่ายวิจัยก็จะสามารถต่อยอดไปได้” 

       

นอกจากการเข้าร่วมในงาน nano tech 2020 ยังมีโอกาสเข้าร่วม Business Trip เข้าชม Fujisawa Smart City ซึ่งนายสมชายชี้ว่า เป็นมุมมองที่น่าสนใจ และมีโอกาสนำมาปรับใช้กับธุรกิจ โดยยกตัวอย่างธุรกิจอสังหาริทรัพย์ที่มีทั้งหมู่บ้าน โรงแรม ซึ่งหากพัฒนาให้เป็น Smart Community และมีระบบต่าง ๆ เช่น ระบบประหยัดพลังงาน ความปลอดภัย ก็ตอบโจทย์วิถีชีวิตในปัจจุบัน ทำให้เราเห็นภาพวิธีคิดแบบภาพองค์รวมที่มีการบูรณาการภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น การรับมือภัยพิบัติ การวางโครงสร้างของเมืองอย่างถนน หรือการป้องกันภัยรูปแบบต่าง ๆ

158203389315

การเข้าร่วมงานครั้งนี้ มุมมองจากภาคเอกชนอย่าง บริษัท พรีเมียร์ โพรดักส์ จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า การนำเสนอผลงานวิจัยมีประโยชน์มาก ดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามาสนใจประเทศไทยในฐานนะผู้เล่นด้านนาโนเทคโนโลยีได้มากขึ้นและการจับคู่ธุรกิจเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ได้ผลชัดเจน  และในการเข้าร่วมทริปกับนาโนเทคครั้งนี้ ทำให้บริษัทได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของการอัพเดทเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและการเยี่ยมชมบริษัทต่าง ๆ ก็ให้มุมมองที่ดี และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การเกิด networking นั่นคือ เกิดสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์กรและนาโนเทค ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัทฯ มีความมั่นใจที่จะมีความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนากับนาโนเทคต่อไปในอนาคตอีกด้วย