'กสิกร' ลุ้น 'ไวรัส' จบเม.ย.นี้ หนุน 'หุ้นไทย' ฟื้นครึ่งปีหลัง

'กสิกร' ลุ้น 'ไวรัส' จบเม.ย.นี้ หนุน 'หุ้นไทย' ฟื้นครึ่งปีหลัง

"บล.กสิกร" คาดสถานการณ์โรคระบาดช่วงเดือน เม.ย. ตัดสินแนวโน้มการลงทุนปีนี้ เชื่อภาครัฐอัดฉีดเม็ดเงินประคองเศรษฐกิจไตรมาส 2 พ้นการถดถอยทางเทคนิค

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' ตั้งแต่ปลายปี 2562 กดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยช่วงเดือน ม.ค. ให้ปรับตัวลดลงประมาณ 50 จุด มาอยู่ที่ 1,514 จุด ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจโดยภาพรวมก็น่าจะชะลอตัวลง

"ภาสกร ลิมมณีโชติ" รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไทยในช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 มีแนวโน้มว่าจะติดลบ 1% เทียบกับไตรมาส 4 ปี 2562 ที่ขยายตัว 1.6% ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขของผู้ที่เข้าข่ายต้องสงสัยในประเทศจีน ซึ่งรอการตรวจว่าจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่นั้น ปัจจุบันมีจำนวนที่ลดลงจากจุดสูงสุดที่ 1.9 แสนราย มาอยู่ที่ 1.4 แสนราย ซึ่งเราประเมินว่าอาจจะใช้เวลาประมาณ 14 วัน สำหรับการควบคุมสถานการณ์

“ความเสี่ยงที่สำคัญในขณะนี้น่าจะอยู่ที่การควบคุมโรคภายนอกประเทศจีนมากกว่า เพราะหากเกิดการแพร่ระบาดในอีกหลายประเทศ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลงไปอีก อย่างไรก็ตาม หากประเทศจีนไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ในเวลาอันรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”

ด้าน "สรพล วีระเมธีกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จุดที่ต้องจับตาในปัจจุบันคือ เดือน เม.ย. ที่จะถึงนี้ เพราะหากการแพร่ระบาดของโรคยังไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะในประเทศจีน จะทำให้ภาคธุรกิจหลายๆ แห่งเผชิญกับภาวะขาดแคลนสินค้า เนื่องจากจีนเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่สำคัญ

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการแพร่ระบาดของโรคในระยะแรก อาทิ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มธนาคารพาณิชย์ จะเริ่มได้รับผลกระทบตามมา หากสถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้นหลังผ่านเดือน เม.ย. ไปแล้ว

“จากข้อมูลของภาคธุรกิจหลายรายซึ่งถูกกระทบจากการหยุดผลิตในจีน ปัจจุบันยังคงมีสต๊อกสินค้าสำหรับขายได้อีกประมาณหนึ่งเดือนครึ่ง ถ้าสถานการณ์คลี่คลายเราจะเห็นการกลับมาเร่งผลิตสินค้าเพื่อเติมสต๊อกในช่วงถัดจากนี้ แต่ถ้าการแพร่ระบาดเลยไปถึงช่วงเดือน พ.ค. ภาพการลงทุนโดยรวมน่าจะยิ่งแย่ลงไปอีก ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์เอง ถ้าภาคธุรกิจหยุดชะงักไป การเติบโตของสินเชื่อก็ย่อมลดลง ขณะเดียวกันตัวเลขหนี้เสียก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตามในกรณีที่การแพร่ระบาดของโรคคลี่คลายลง ตลาดหุ้นมีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะการกลับมาเร่งผลิตสินค้าต่างๆ เข้ามาเติมสต๊อกสินค้าที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ธุรกิจต้นน้ำอย่างปิโตรเคมี มีโอกาสฟื้นตัวกลับมาได้แรง ขณะที่หุ้นอย่าง บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ได้ประโยชน์เฉพาะตัวจากคู่แข่งในประเทศจีนที่หยุดผลิตไปบางส่วน ขณะที่หุ้นอย่าง บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ก็ได้ประโยชน์จากการขายถุงมือยาง ซึ่งปัจจุบันใช้กำลังการผลิตเกินกว่า 100% และราคาขายที่ปรับขึ้น 5% โดยมีกำลังการผลิต 3 หมื่นคู่ต่อปี

นอกจากนี้ ประเด็นที่ต้องจับตาเพิ่มเติมคือ ตัวเลขจีดีพีของไทยไตรมาส 2 นี้ หากผลลัพธ์ออกมาเป็นการหดตัวลงสองไตรมาสติดต่อกัน จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ซึ่งในส่วนนี้คาดหวังว่าภาครัฐจะสามารถอัดฉีดสภาพคล่องและออกนโยบายมาช่วยประคองเศรษฐกิจได้ทัน

ภาวะเทคนิคอล รีเซสชั่นของเศรษฐกิจไทยที่เคยเกิดขึ้นครั้งล่าสุด คือเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ในครั้งนั้นดัชนีตลาดหุ้นไทยลดลงประมาณ 300 จุด หรือลดลงประมาณ 25% ในช่วงประมาณ 2 – 3 เดือน