ถุงกระดาษก็ไม่ดี...ถุงผ้าก็ไม่ได้ ถุงฯย่อยสลายเป็นตัวเลือกไหม?

ถุงกระดาษก็ไม่ดี...ถุงผ้าก็ไม่ได้ ถุงฯย่อยสลายเป็นตัวเลือกไหม?

เมื่องานวิจัยบอกว่า ถุงผ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะที่ถุงกระดาษก็ไม่ได้ดีกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายคนเข้าใจ จึงเกิดทางเลือกใหม่ ก็คือ ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ แล้วนี่จะตอบโจทย์รักษ์สิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่

จากบทความ "มาตรการงดให้งดรับถุงพลาสติก อย่าเป็นเพียงแค่ย้ายขยะ A ไปเป็นขยะ B" ผู้เขียนตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า "ถุงผ้า" หรือ "ถุงกระดาษ" ดีกว่าถุงพลาสติก จริงหรือ?

เพราะใช่ว่า "ถุงกระดาษ" จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะต้องตัดต้นไม้มาผลิต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักให้เกิดภาวะโลกร้อน ขณะที่ผลการวิจัยที่เผยแพร่โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหารของเดนมาร์ก เมื่อปี 2561 ประเมินวัฏจักรชีวิตของถุงช้อปปิ้งทุกชนิด ตั้งแต่ถุงกระดาษ ไปจนถึงถุงพลาสติก พบว่า "ถุงผ้า" เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ขณะที่ถุงพลาสติกกลับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้จะไม่มีการรีไซเคิลก็ตาม! เช่นเดียวกับผลวิจัยของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของอังกฤษเมื่อปี 2554

ที่เป็นเช่นนี้เพราะฝ้ายที่ใช้ผลิตถุงผ้าต้องใช้ทั้งที่ดิน น้ำ และปุ๋ยในการเติบโต ทั้งยังต้องเก็บเกี่ยว นำมาผ่านกระบวนการแปรรูป ขณะที่ถุงพลาสติกเป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง จึงไม่ต้องใช้ทรัพยากรใหม่ในการผลิต

  • ถุงพลาสติกย่อยสลายเป็นตัวเลือกได้ไหม?

มีผู้คนมากมายชูธง "นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลายได้" ให้เป็นหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภค และเป็นการเริ่มต้นปรับตัวตามกระแสโลก ที่ทุกคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ถุงพลาสติกย่อยสลายได้จะเป็นทางเลือกใหม่ แต่เราก็ต้องรู้จักบริโภคอย่างเหมาะสม พลาสติกควรนำมา "ใช้ซ้ำ" และมีการจัดการอย่างถูกวิธีและเหมาะสม เม็ดพลาสติก ที่นำไปผลิตถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ต้องเป็นเม็ดพลาสติกที่ผสมลงไป มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ตามมาตรฐาน EN13432 ซึ่งเป็นมาตรฐานของวัสดุที่ย่อยสลายได้ กำหนดโดยสหภาพยุโรปสำหรับการผลิตสินค้า อุตสาหกรรม โดยเนื้อพลาสติกที่ขึ้นรูปจากการผสมแป้งมันสำปะหลัง และเม็ดพลาสติกในอัตราส่วนที่เหมาะสม

กระบวนการย่อยสลายจำเป็นต้องอาศัยจุลชีพ (Microorganism) และต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสม คือต้องมีอากาศร่วมในกระบวนการย่อยสลาย ถ้าไปอยู่ในแม่น้ำ ทะเล ก็ไม่มีทางย่อยสลาย และในภาวะที่เหมาะสมดังกล่าวต้องใช้เวลา 3-4 เดือน แต่ถ้านำไปจำกัดไม่ถูกวิธี กระบวนการย่อยสลายอาจใช้เวลานานขึ้น

ดังนั้น นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย ก็ไม่ได้แปลว่า ย่อยสลาย ได้ง่ายๆ!!

  • รัฐต้องมีนโยบายเรื่องพลาสติกอย่างมีระบบ

การผลิตถุงพลาสติกเป็นเรื่องจำเป็น แต่รัฐต้องมีนโยบายเรื่องพลาสติกอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ "ต้นทาง" คือ ผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้จัดเก็บขยะ นำกลับมาใช้ประโยชน์หรือทำลายอย่างมีมาตรฐาน Reduce Re-used Recycle

มาตรการการแบนการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว จะต้องควบคู่กับมาตรการทางกฎหมาย รัฐจะต้องมีระบบติดตามตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตพลาสติก เช่น การเรียกเก็บภาษีรีไซเคิล หรือการให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่โรงงานที่แปรรูปพลาสติก รัฐต้องควบคุมและจัดเก็บภาษีการนำเข้าพลาสติกหรือวัตถุดิบสำหรับการผลิตพลาสติกอย่างเข้มข้น รัฐต้องวางมาตรการในการแยกขยะที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นทาง ก่อนนำไปสู่การ Recycle Upcycle และนำไปทำลายย่อยสลายในที่สุด ส่วนประชาชนร้านค้าที่ยังใช้ถุงพลาสติก แล้วไม่ทิ้งในระบบรีไซเคิลหรือนำไปเผาทำลายไม่ถูกต้องตามกระบวนการ จะต้องเพิ่มบทลงโทษฐานทำลายสภาพแวดล้อมหรือไม่

  • ถุงพลาสติกยังมีประโยชน์กับสังคมโลก!!

ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติก ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า ต้องนำกลับมาใช้ซ้ำหลายๆ ครั้งให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ภาครัฐโดยการมีมาตรการชัดเจนในการแยกขยะที่ถูกต้อง กระบวนการ Recycle Upcycle ถึงจะมีประสิทธิภาพ

เพียงเท่านี้ทุกคนก็มีส่วนร่วมในการลดขยะได้ง่ายๆ แล้ว