สุริยะ ชี้ GWM ซื้อศูนย์การผลิตยานยนต์ ของGMหวังมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

สุริยะ  ชี้ GWM  ซื้อศูนย์การผลิตยานยนต์ ของGMหวังมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า

กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้การซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์ GWM ประเทศไทยซื้อศูนย์ผลิตรถยนต์ เพื่อรองรับเมกะเทรนด์ หลังเทคโนโลยีม่งหน้าสู่รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้ากำลังผลิต แสนคันต่อปีปูทางฐนผลิตแห่งเอเชีย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การซื้อศูนย์การผลิตรถยนต์ GM ประเทศไทยของ GWM นั้น เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ (Global Strategy) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trend) โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ตลอดจน นโยบายของทั้งสองบริษัทในการวางแผนการผลิตและการจำหน่ายยานยนต์ในสาขาทั่วโลก เช่น ยุโรป อาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์รวมถึงประเทศไทย โดยกลยุทธ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับ Disruptive Technology ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดังจะเห็นได้จากกรณีของการปรับกิจการเพื่อสร้างความแข็งแกร่งและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของบริษัทรถยนต์หลายค่ายทั่วโลก เช่น เฟียต-ไครสเลอร์ และการที่ GWM ได้ซื้อโรงงานผลิตยานยนต์ในประเทศอินเดียก่อนหน้านี้ด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อไปว่า GWM ได้เข้ามาหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการลงทุนสร้างฐานการผลิตยานยนต์ในประเทศไทยมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดย GWM เป็นผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนรายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV) และรถปิกอัพรายใหญ่ที่สุดของจีน โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา GWM มีปริมาณการจำหน่ายในจีนเฉลี่ย 1 ล้านคันต่อปี สำหรับการลงทุนในประเทศไทยนั้น GWM

วางแผนการผลิตรถยนต์ SUV และรถปิกอัพ รวมถึงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 100,000 คันต่อปี โดยร้อยละ 50 จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก โดยคาดว่า จะเริ่มต้นการผลิตได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565 โดยสรุปแล้ว การลงทุนของ GWM ขนาดกำลังการผลิต 100,000 คันต่อปี (ในปัจจุบัน GM ผลิตประมาณ 50,000 คันต่อปี) จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการผลิต (โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยและ Supply Chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ) การส่งออก และการจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ GWM ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และเยอรมัน ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งคาดว่า จะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อนโยบายการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยของรัฐบาลอีกด้วย

 

 

จากแนวโน้มที่มีการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ GWM ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยให้มีการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์สะอาด ประหยัด ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกก็มุ่งสู่เทคโนโลยีสะอาดเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการยานยนต์ ในประเทศไทย ทั้งผู้ผลิตยานยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จึงควรเร่งปรับตัวตามทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีโลกดังกล่าว เพื่อรักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในอาเซียน และเป้าหมายการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในระดับโลก