เปิดขั้นตอน 'ยุบพรรค' สู่วันชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

เปิดขั้นตอน 'ยุบพรรค' สู่วันชี้ชะตา 'อนาคตใหม่'

เปิดขั้นตอนการยุบพรรคการเมือง พร้อมย้อนดูประวัติศาสตร์การยุบพรรคในรอบ 13 ปี

อีกไม่กี่อึดใจ ก็จะถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563  ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดประชุมเพื่อลงมติคำร้องคดี ยุบพรรคอนาคตใหม่  กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคใหม่ ผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ พรรคอนาคตใหม่ จนนำมาสู่การยุบพรรคไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์ แต่เป็น ผลมาจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุถึงเหตุของการสิ้นสุดความเป็นพรรคการเมือง ซึ่งประกอบไปด้วย 3 กรณี ได้แก่ 1.การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง (ตามมาตรา 91) 2.ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง (ตามมาตรา 92) และ 3. มีการควบรวมพรรคการเมือง (ตามหมวด 9 การควบรวมพรรคการเมือง)

กรณีของพรรคการเมือง ที่ต้องลุ้นคำตัดสินยุบพรรค เกิดจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของของ ส.ส. ซึ่งหนึ่งในนั้นมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

นายธนาธรนั้น แจ้งทรัพย์สินรวมคู่สมรส 5,632,536,266 บาท หนี้สิน 683,303 บาท มีรายได้รวม 188,606,720 บาท รายจ่าย 66 ล้านบาท ทรัพย์สินที่น่าสนใจมีการแจ้งเงินปล่อยกู้ยืมพรรคอนาคตใหม่ 191.2 ล้านบาท

ในข้อมูลนั้นมีการแจ้งรายการที่น่าสนใจ คือ นายธนาธร ปล่อยเงินปล่อยกู้ยืมแก่พรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191.2 ล้านบาท สัญญาแรก 161.2 ล้านบาท และสัญญาที่สอง 30 ล้านบาท จนนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นถึง กกต. ขอให้ตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง นายธนาธร กับพรรคอนาคตใหม่ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

จากนั้นกกต. มีมติเสียงข้างมากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ หลังที่ประชุมเห็นว่า การที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก นายธนาธร 191 ล้านบาท เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่ กกต. ไปเมื่อ25 ธ.ค. 2562

  • ขั้นตอนยุบพรรค

สำหรับขั้นตอนการยุบพรรคการเมือง มีขั้นตอนเริ่มที่

  1. เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนหรือผู้ยื่นคำร้องต่อนายทะเบียน ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีเหตุขึ้นกับพรรคการเมืองใด ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่าพรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
  2. เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่า พรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าจริงให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง สั่งเลิกพรรคการเมืองนั้น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  3. เมื่อปรากฎต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุให้ต้องเลิกตามข้อบังคับพรรค แต่พรรคการเมืองนั้นยังมีสมาชิกที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์อยู่ให้นายทะเบียน โดยความเห็นชอบของคณะรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นคำร้องขอนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคและประกาศในราชกิจจานุเบกษา

158201326124

  • ย้อนคดียุบพรรค ตัดสิทธิ์การเมือง

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นหลายๆ พรรคต้องโบกมือลาออกจากถนนสายการเมืองไปด้วยกรณียุบพรรค รวมทั้งสิ้น 36 พรรค อาทิ  พรรคพัฒนาสังคมไทย, พรรคแรงงาน, พรรคชาติประชาธิปไตย, พรรคทางเลือกที่สาม, พรรคประชาชนไทย, พรรคเสรี, พรรคชาติพัฒนา, พรรครู้แจ้งเห็นจริง, พรรครักษ์ถิ่นไทย, พรรคประชาชาติไทย, พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า, พรรคแผ่นดินไทย, พรรคสันติภาพไทย, พรรครวมพลังไทย, พรรครักษ์แผ่นดินไทย, พรรคธรรมาธิปไตย

ส่วนไฮไลท์เด่นๆ  กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนดูไทม์ไลน์การยุบพรรค 13 ปี มาดูกันว่ามีพรรคไหนบ้างที่ปลิดปลิวร่วงเวทีไป

เริ่มต้นที่ปี 2550 พรรคที่ถูกยุบคือ พรรคไทยรักไทย ที่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด พ่วงด้วย พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย ในข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

1 ปีต่อมาในปี 2551 พรรคที่ถูกศาลวินิจฉัยให้ยุบ พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และ พรรคพลังประชาชน กรณีกรรมการพรรคทุจริตการเลือกตั้ง รวมถึงอีก 13 พรรคที่ถูกยุบกรณีไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้ถูกต้องตามความเป็นจริงอีกด้วย

ล่าสุดในปี 2562 พรรคที่ถูกยุบคือ พรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในการเสนอพระนามทูลกระหม่อมฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรค

สรุปผล (21 กุมภาพันธ์ 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยขององค์คณะตุลาการ ได้มีมติสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามมาตรา 92  ในคดีกู้เงิน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและ เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหาร และ ห้ามจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี ตามมาตรา 94