สิงคโปร์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจสังเวย ‘พิษไวรัส’

สิงคโปร์ลดคาดการณ์เศรษฐกิจสังเวย ‘พิษไวรัส’

สิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 2563 ระหว่างที่กำลังรับมือกับไวรัสโคโรน่า ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศสูงที่สุดแห่งหนึ่งนอกจีนแผ่นดินใหญ่

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ แถลงวานนี้ (17 ก.พ.) คาดการณ์เศรษฐกิจประเทศ ปี 2563 โตราว 0.5% และปรับลดพิสัยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อยู่ระหว่าง -0.5-1.5% ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่มองว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์ปี 2563 โตระหว่าง 0.5-2.5%

“ครั้งก่อนมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ควบคู่กับวงจรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกฟื้นตัวในปีนี้ หลังจากนั้นเกิดการระบาดของไวรัสโคโรน่านา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบต่อจีน สิงคโปร์ และหลายประเทศทั่วโลก” แถลงการณ์จากกระทรวงระบุ พร้อมจำแนกถึงผลกระทบจากไวรัสที่มีต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์ ได้แก่ ภาคส่วนที่เน้นต่างประเทศ เช่น การผลิตและค้าส่ง เสียหายเนื่องจากความต้องการในตลาดหลักรวมถึงจีนซบเซา ภาคการท่องเที่ยวและขนส่งเสียหายรุนแรงจากการที่นักท่องเที่ยวลดจำนวนลงมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงด้วย จากการที่ประชาชนลดการจับจ่ายซื้อของและรับประทานอาหารนอกบ้าน

“เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบกระทรวงจึงต้องจับตาพัฒนาการและผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างใกล้ชิด”

สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รายงานผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่านายืนยันแล้ว 75 คน หายดีแล้ว 19 คน ตอนที่ซาร์สระบาดเมื่อปี 2546 ที่นี่ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เสียหายหนัก แม้แต่นายกรัฐมนตรีลี เซียนหลุง ก็กล่าวเมื่อวันศุกร์ (14 ก.พ.) ว่า ความเสียหายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกินหน้าโรคซาร์สไปแล้ว

นายกฯ ลีกล่าวด้วยว่า เป็นไปได้ที่สิงคโปร์อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผลจากการแพร่ระบาดของไวรัส

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศมาตรการมากมายช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก คาดว่ารัฐบาลจะประกาศงบประมาณก้อนใหญ่สุดเท่าที่เคยมี เพื่อบรรเทาความเสียหาย

นอกจากนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมยังเผยจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2562 ขยายตัว 1% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 ดีกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะโต 0.8% ส่วนตลอดปี 2562 ขยายตัว 0.7% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2562

ภาคส่วนที่เป็นตัวฉุดรั้งในไตรมาส 4 คือภาคการผลิตที่หดตัวลง 2.3% จากช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากผลผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมี วิศวกรรมขนส่ง และการผลิตทั่วไปลดลง ทั้งๆ ที่การผลิตในภาควิศวชีวเวชและวิศวกรรมพรีซิชันขยายตัว 

ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัว 4.3% ได้แรงหนุนจากโครงการทั้งภาครัฐและเอกชน

วันนี้ (18 ก.พ.) เฮง สวี เกียต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีกำหนดแถลงงบประมาณประจำปี

หลังจากเศรษฐกิจปี62 ประเทศที่ต้องพึี่งพาการค้าขายเป็นหลักอย่างสิงคโปร์ต้องเจอกับความยากลำบากจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ประกอบกับความต้องการเซมิคอนดักเตอร์สินค้าส่งออกสำคัญของสิงคโปร์ซบเซา ช่วงนี้ยังต้องมาเจอไวรัสโคโรน่าระบาดซ้ำเติมอีกด้วย

เออร์วิน เซียห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารดีบีเอสมองว่า การแพร่ระบาดของไวรัสเหมือนกับราดน้ำเกลือลงไปบนแผล อาจส่งผลเสียหายมากกว่าตอนซาร์สระบาด เนื่องจากสิงคโปร์มีสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้จีนเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดและนักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดที่มาสิงคโปร์ และเพื่อรองรับแรงกระเพื่อมจากการแพร่ระบาดของไวรัส เซียห์และนักเศรษฐศาสตร์คนอื่นๆ มองว่า รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวโน้มใช้งบประมาณขาดดุลครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ระหว่าง 7-8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ในทางทฤษฎีรัฐเล็กๆ ที่ร่ำรวยแห่งนี้สามารถขาดดุลงบประมาณได้มากกว่านั้น เนื่องจากสิงคโปร์ใช้งบประมาณเกินดุลสะสมมาหลายปี รัฐธรรมนูญกำหนดว่ารายได้และรายจ่ายของรัฐบาลต้องสมดุลในช่วง 5 ปี ซึ่งงบประมาณปี 2563 เป็นปีที่ 5 และเป็นปีสุดท้ายก่อนเลือกตั้งใหม่ในเดือน เม.ย.2564

นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า ที่ผ่านมางบประมาณรัฐบาลเกินดุลสะสมไว้กว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องนำมาใช้จ่ายทั้งหมด

“แม้มีโอกาสทางงบประมาณมาก แต่โดยปกติรัฐบาลก็ต้องย้ายเงินที่เกินดุลส่วนหนึ่งไปเก็บไว้เป็นเงินสำรองด้วย” ฉั่ว ฮัก บิน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากเมย์แบงก์กิมเอ็งให้ความเห็นพร้อมเสริมว่า งบประมาณสิงคโปร์ปีนี้จะเป็นชุดมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและคนทำงานให้ฝ่าข้ามกระแสไวรัส ที่อาจสร้างความเสียหายไม่น้อยกว่า 700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ไปให้ได้

ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากซิตีระบุว่า งบประมาณจะระบุถึงชุดมาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งด้วย เช่น ลดภาษีเงินได้และเงินช่วยเหลือลดค่าครองชีพ

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะมีในงบประมาณ 2563 ได้แก่ 1) การช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและคมนาคม ที่เสียหายหนัก ซึ่งอาจรวมถึงการลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ให้แก่อสังหาฯ เชิงพาณิชย์และโรงแรม ลดค่าธรรมเนียมจอดเครื่องบิน 2) ผ่อนคลายโควตาจ้างแรงงานต่างชาติให้เป็นการชั่วคราวเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมบริการ3)รมว.คลังจะลงรายละเอียดเรื่องการเพิ่มภาษีสินค้าและบริการ (จีเอสที) จาก 7% เป็น 9% ตามที่เคยแถลงไว้ว่าจะมีบังคับใช้ระหว่างปี 2564-2569 4) มาตรการจำพวกให้เงินสด ลดภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคจัดการกับการเพิ่มภาษี 5) เดินหน้าสนับสนุนภาคธุรกิจปรับปรุงผลิตภาพ ขยายกิจการไปต่างประเทศ และฝึกอบรมพนักงาน