‘แบม’ จบช่วงฮันนีมูน นักลงทุนถล่มขายผวาถูกหั่นเรทติ้ง

‘แบม’ จบช่วงฮันนีมูน นักลงทุนถล่มขายผวาถูกหั่นเรทติ้ง

หลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 หรือเพียงแค่ 2 เดือนเศษ

หุ้นของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เป็นหนึ่งในหุ้นที่ "โดดเด่นสุด" ด้วยผลตอบแทนถึง 100% จากราคาไอพีโอที่ 17.50 บาท ขึ้นไปทำจุดสูงสุดไว้ที่ 36.25 บาท เมื่อวันแห่งความรัก 14 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายก่อนปิดตลาดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ราคาหุ้น BAM กลับ "ดิ่งลง" อย่างรวดเร็ว จนทำให้ราคาหุ้นร่วงกลับมาปิดที่ 31.50 บาท และยังคงปรับตัวลงต่อเนื่องอีกประมาณ 11.90% ในวันทำการถัดลง ลงไปแตะระดับต่ำสุดที่ 27.75 บาท คิดเป็นการปรับตัวลงกว่า 22% ในช่วงสองวันทำการ

ในเชิงพื้นฐาน แม้นักวิเคราะห์จะมองว่าธุรกิจของ BAM ซึ่งก็คือการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและสินทรัพย์รอการขาย เป็นธุรกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต แต่เมื่อพิจารณาจากราคาเหมาะสมในปีนี้ ซึ่งนักวิเคราะห์ 6 ราย จาก IAA Consensus ประเมินไว้ที่ประมาณ 28 บาท ทำให้ราคาหุ้น BAM ในปัจจุบันสูงเกินพื้นฐานไปแล้ว

หรือแม้แต่นักวิเคราะห์ที่มองเชิงบวกที่สุด ซึ่งให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 31 บาท ก็ยังทำให้ราคาปัจจุบันไม่เหลืออัพไซด์อีกแล้ว

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในปี 2562 ช่วง 9 เดือนแรก บริษัทกำไรสุทธิ 4,882.29 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 ทั้งปีซึ่งทำได้ 5,202.02 ล้านบาท

ขณะที่ บล.เคจีไอ ประเมินว่า BAM มีรายได้ที่ยังไม่ได้รับรู้อีกประมาณ 9 พันล้านบาท (เงินได้ที่ยังไม่ได้รับจากการประมูลสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโดยกรมบังคับคดี) ซึ่งส่วนหนึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2564 - 2565 ซึ่งเป็นเงินที่เหลือหลังจากกรมบังคับคดีจ่ายคืนแล้ว 5 พันล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรก

นอกจากนี้ บริษัทจะได้เงินจากการขายที่ดินแปลงใหญ่ให้กับ "กลุ่มเซ็นทรัล" มูลค่าประมาณ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะถูกบันทึกเข้ามางบการเงินไตรมาส 4 ปี 2562 และจะทำให้รายได้และกำไรสุทธิพุ่งสูงขึ้นมาก

158194856859

ย้อนกลับมาที่การปรับตัวลงของราคาหุ้นอย่างรวดเร็วล่าสุดนี้

ภาสกร ลิมมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย มองว่า ปัจจัยหลักที่กดดันราคาหุ้น BAM น่าจะเป็นเพราะความเห็นที่เริ่มแตกต่างกันของนักลงทุน โดยเฉพาะหลังจากที่ราคาหุ้นทะลุ 30 บาท ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดน่าจะมีกำไรจากการถือหุ้น BAM เริ่มประพิจารณาประกอบกับราคาที่เกินมูลค่าพื้นฐานมาแล้ว ซึ่ง บล.กสิกรไทย ประเมินไว้ที่ 27 บาท 

นอกจากนี้ ความกังวลอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากดดันคือ โอกาสที่จะถูกปรับลดเครดิต เรทติ้งส์ ลงจากปัจจุบันที่ AA- เนื่องจากการหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจภายหลังการขายหุ้นไอพีโอ ซึ่งน่าจะทราบผลในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

“โดยส่วนตัวมองว่า ถึงแม้ BAM จะหลุดจากการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมาย แต่สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึงกว่า 40% ขณะที่ธปท.ก็ยังยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนบริษัทอยู่เช่นเดิม สุดท้ายแล้วหากเกิดปัญหาในอนาคตขึ้นมาจริงๆ เชื่อว่า BAM ก็จะยังได้การสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ดี”

ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่น่าจะขายหุ้นออกมาช่วงนี้ยังไม่มีข้อมูลเปิดเผยออกมาชัดเจน แต่หากเรียงลำดับกลุ่มที่น่าจะมีโอกาสขายออกมาได้ก่อน น่าจะเป็นนักลงทุนต่างชาติ ตามด้วยสถาบันในประเทศ และกลุ่มรายบุคคล

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบแบบรายงานการซื้อขายหุ้นของผู้บริหาร (แบบ 59-2) และแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) จากสำนักงาน ก.ล.ต. ในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา พบว่า ยังไม่มีรายงานใดๆ แต่เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงหลังจากบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่ามีรายงานการซื้อหุ้นของผู้บริหาร 2 ราย ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ได้แก่

"ทองอุไร ลิ้มปิติ" ประธานกรรมการ BAM ซื้อหุ้นรวม 100,000 หุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 18 บาท และ "บัณฑิต อนันตมงคล" กรรมการ BAM ซื้อหุ้นรวม 30,000 หุ้น ที่ราคาเฉลี่ย 17.9 บาท

ขณะที่ บลจ.กสิกรไทย มีการรายการแจ้งการซื้อหุ้น BAM 2 ครั้ง ในวันที่ 2 ม.ค. 2563 โดยเป็นการซื้อที่ราคาเฉลี่ยสูงสุด 19.13 บาท รวมทั้งสิ้น 10.17 ล้านหุ้น ทำให้มีจำนวนหุ้นภายหลังการได้มารวม 155.68 ล้านหุ้น และการได้มาอีกครั้งในวันที่ 23 ม.ค. 2563 ที่ราคาเฉลี่ยสูงสุด 26.37 บาท รวม 4.7 ล้านหุ้น ทำให้มีจำนวนหุ้นภายหลังการได้มารวม 165.56 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 5.12% ของหุ้นทั้งหมด

หลังจากนี้ต้องรอดูว่า “ใคร” จะเป็นผู้รายงานการขายหุ้น BAM ออกมา!