กสทฯ จ่อรับช่วงเข้าคุม 'ไทยคม 5'

กสทฯ จ่อรับช่วงเข้าคุม 'ไทยคม 5'

ดีอีเอสชงครม.ให้ กสท โทรคมนาคม ดูแลกิจการดาวเทียมต่อจากไทยคมหลังหมดสัญญาสัมปทาน หลังบอร์ดกิจการอวกาศมีมติรับทราบ เตรียมนำเข้าวาระเพื่อพิจารณากลางเดือน มี.ค.นี้

ก่อนนำเข้าบอร์ดดีอีปลายเดือน เพื่อเสนอครม.ต่อไป เหตุทำพีพีพีไม่ทัน ด้าน “พ.อ.สรรพชัย” มั่นใจมีความพร้อมทุกด้าน

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า ช่วงกลางเดือน มี.ค. 2563 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จะนำวาระเกี่ยวกับการมอบหมายให้ กสท โทรคมนาคม ดูแลกิจการดาวเทียม ดวงที่ 4,5 และ 6 ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังจะหมดลงในเดือน ก.ย. 2564 เข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาให้ กสทฯดำเนินการแทน

เนื่องจากไม่สามารถดำเนินตามกระบวนการหาพันธมิตรทำ พีพีพี ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ทัน ซึ่งขั้นตอนในการทำ พีพีพี นั้น จำเป็นต้องได้บริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมายก่อน 1 ปี ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน เดือน ก.ย. 2564 คือ เดือน ส.ค. 2563 แต่กระบวนการในการร่างทีโออาร์ต่างๆยังไม่สามารถดำเนินการได้ทันกำหนด กระทรวงฯจึงได้เสนอวาระแจ้งเพื่อทราบให้คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ว่าจะดำเนินการตาม ม. 49 ของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ โดยให้ กสทฯทำโครงการแบบ จีทูจี

ทั้งนี้ เนื้อหาของมาตราดังกล่าว ระบุว่า ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการจัดทำแนวทางดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุด โดยเปรียบเทียบกรณีที่หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองและกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐ ความต่อเนื่องในการให้บริการสาธารณะ และผลกระทบต่อประชาชน ที่กำหนดให้มีการดำเนินโครงการต่อเนื่องจากโครงการร่วมลงทุนภายหลังสัญญาร่วมลงทุนสิ้นสุดโดยการร่วมลงทุน

เขา กล่าวว่า กสทฯได้ส่งแผนในการบริหารจัดการดาวเทียม แทนกระทรวงในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอีเอสให้กับกระทรวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งดาวเทียมดวงที่ 5 ที่ไม่สามารถใช้งานได้ และดาวเทียมดวงที่ 4 ที่จะหมดพลังงานหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่งหาก กสทฯได้รับดาวเทียมมาบริหารจัดการต้องใช้งบประมาณปีละ 200 ล้านบาท จึงต้องประเมินระยะเวลาในการบริหารจัดการด้วยว่าคุ้มค่ากับการลงทุนหรือดูแลในระยะยาวหรือไม่

นอกจากนี้ไทยคม 4 ลูกค้าก็ย้ายออกจากระบบจำนวนมาก เพราะไม่มีความชัดเจนในการสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนดวงที่ 4 ตามที่ไทยคมพยายามจะสร้างดาวเทียมดวงที่ 9 ทดแทน แต่ติดปัญหาการจองไฟล์ลิง หรือ การจองช่องสัญญาณดาวเทียม ทำให้ต้องยุติแผนการสร้าง เหลือเพียงดาวเทียมไทยคม 6 เท่านั้นที่เพิ่งยิงขึ้นสู่วงโคจรในปี 2557 สามารถใช้งานได้ 15 ปี ไปจนถึงปี 2572 ที่ยังคงมีลูกค้าเช่าใช้เต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม กสท โทรคมนาคม ก็มีความยินดีและพร้อมที่จะทำหน้าที่ในการดูแลกิจการดาวเทียมให้กระทรวงดีอีเอสทั้งรูปแบบ จีทูจี ตาม ม. 49 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และ แบบชั่วคราวระหว่างหาบริษัททำพีพีพี ตามมาตรา 50 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯที่ระบุว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ความมั่นคงของประเทศ