ตลาดในประเทศ 'เอาไม่อยู่' ธุรกิจ 'บัตรเครดิต'หนีรุกอาเซียน 

ตลาดในประเทศ 'เอาไม่อยู่' ธุรกิจ 'บัตรเครดิต'หนีรุกอาเซียน 

"กรุงศรีคอนซูมเมอร์" ปรับกลยุทธ์ปี 63 บุกธุรกิจในอาเซียน หวังเพิ่มรายได้จากต่างประเทศ หนีตลาดในประเทศหดตัว  ลั่นไตรมาส 2 ปีนี้ เริ่มธุรกิจที่ฟิลิปปินส์ วางเป้าปีนี้ ยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตโต 8% ยอดสินเชื่อใหม่โต 11% ส่วนเอ็นพีแอลยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ เพื่อรองรับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป คู่แข่งรายใหม่เพิ่มขึ้น รายได้ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลมีแนวโน้มลดลง กฎระเบียบและข้อบังคับเข้มงวดขึ้น รวมถึงปีนี้มีความเสี่ยงใหม่ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว ฝุ่นPM2.5 การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 กำลังซื้อลดลง ขณะที่หนี้เสียสูงขึ้น 

โดยบริษัทเดินหน้าขยายธุรกิจสู่ตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตามนโยบายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในฐานะบริษัทแม่ ที่ต้องการให้บริษัทเป็นผู้นำในการขยายตลาดในอาเซียน ทั้ง เวียดนาม  เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย  จากก่อนหน้านี้ได้เข้าไปทำตลาดแล้วในลาวและกัมพูชา คาดว่าจะเริ่มธุรกิจในฟิลิปปินส์ร่วมกับเอสบีไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ผ่านกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ ครอบคลุมสินเชื่อเพื่อการผ่อนชำระ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถจักรยานยนต์ และประกันชีวิต เป็นต้น  

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้จะขยายเพิ่มอีก1ประเทศ เวียดนามมีโอกาสมากที่สุด หลังจากนั้น ปี 2564-2566 จะขยายเพิ่มเติมอีก 2-3 ประเทศ คือ เวียดนาม เมียนมา และอินโดนีเซีย โดยแผนงานดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนสัดส่วนรายได้จากการลงทุนต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีฯให้ได้ 10% ของกำไรสุทธิธนาคารกรุงศรี ภายใน 3 ปีข้างหน้า (ปี 2563-2565) จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วนประมาณ 5% 

 

พร้อมกันนี้ บริษัทยังมีแผนนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาบริการ การตลาด และการขยายฐานลูกค้า ผ่านกลยุทธ์ UCHOOSE as a Game Changer Tool ซึ่งจะเป็นการใช้ระบบ AI & Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า จะเริ่มใช้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยนำข้อมูลมาใช้ในเชิงธุรกิจ Data Monetization และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่นใหม่ The New UCHOOSE (ยูชูส) ซึ่งจะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่ 3 มี.ค.เป็นต้นไป ตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดรายใหม่ 6 ล้านคนในปีนี้จากปีก่อนอยู่ที่ 4.8 ล้านคน

สำหรับเป้าหมายธุรกิจปี 2563 ตั้งเป้าจำนวนบัญชีอนุมัติใหม่รวม 890,000 บัญชี ลดลง 10% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 355,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% มียอดสินเชื่อใหม่ 111,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% และมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 159,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% แบ่งเป็นสัดส่วนบัตรเครดิต 45% และสินเชื่อบุคคล 55%

จากปี 2562 ที่มีจำนวนบัญชีอนุมัติใหม่รวม 978,000 บัญชี เพิ่มขึ้น 24% มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 330,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% มียอดสินเชื่อใหม่ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เติบโตสูงสุดในรอบ 5 ปี และมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 150,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%

ด้านหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปีนี้ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก 0.3% มาอยู่ที่ 2.3% จากปีก่อนอยู่ที่ 2% เริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2562 อย่างไรก็ตามแนวโน้ม NPL ที่เพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มคนอายุน้อยต่ำกว่า 40 ปีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีรายได้ตึงตัวมาก ทำให้ยังคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อผ่านบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล รวมถึงใช้ข้อมูลเครดิตบูโรกลับเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าก่อนปิดบัญชีและยืดเทอมหรือตัดหนี้สูญ