เปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงล่วงหน้า 2 อาทิตย์ ก่อนเข้าแล้งเต็มรูปแบบ

เปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงล่วงหน้า 2 อาทิตย์ ก่อนเข้าแล้งเต็มรูปแบบ

7 ศูนย์ 11 หน่วยปฏิบัติการ พร้อมปฏิบัติการทำฝนหลวงเติมลุ่มน้ำทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมทั้งรัฐมนตรีช่วย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์

โดยนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ตามสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 ที่มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับในปี 2563 มีแผนปฏิบัติการประจำปีตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 โดยจะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ และฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐาน เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนการดัดแปรสภาพอากาศ

หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงรวมจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี จะใช้อากาศยานอากาศยานรวมทั้งหมด 29 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลว5 ฐาน จะอยู่ที่ จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรี และสงขลา (หาดใหญ่)

ที่ผ่านมา ได้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 6 ลำ และในระยะวันที่ 3 - 16 กุมภาพันธ์ ซึ่งได้ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานรวมทั้งหมด 12 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 8 ลำ และอากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ โดยน้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงปฏิบัติภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในขณะเดียวกัน ในช่วงปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ของประเทศให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) ระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก แม่ทัพภาคที่ 3 และความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก กับ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน และมีการสั่งการในเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. การเพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้คงคุณภาพน้ำที่เหมาะสมสำหรับการอุปโภค บริโภคไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน 2563 โดยสั่งการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงเดือนมิถุนายนนี้ จากเดิมที่มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้ ยังได้มีการถกการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า มีอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างบางพระ จ.ชลบุรี ที่หากไม่มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนอาจส่งให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึงสิ้นเดือนมิถุนายนได้

ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบใน 5 มาตรการหลักพร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น คือ 1.ให้การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และ นิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10% 2.ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดปริมาณการใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงในภาคตะวันออก 3. ให้กรมชลประทานประสาน กปภ. และ อีสท์วอเตอร์ จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 4. ให้กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 5. ให้ กปภ.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ย้ำว่า ในส่วนของการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) จำนวน 2,041 โครงการ ได้เน้นย้ำหน่วยงานให้เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา เป็นต้น พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า แผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับในทุกโครงการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไปด้วย

ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563 ว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนตามที่ 10 หน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 69 จังหวัด ซึ่งนำได้เสนอแผนงาน/โครงการเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้ อยู่ในระหว่าง สทนช.ดำเนินการวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบโครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้