กรมชลฯ พร้อมหนุนเครื่องสูบน้ำ-รถบรรทุกน้ำ ให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง

กรมชลฯ พร้อมหนุนเครื่องสูบน้ำ-รถบรรทุกน้ำ ให้ความช่วยเหลือภัยแล้ง

กรมชลฯ เดินหน้าบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด วอนทุกภาคส่วนต้องรวมมือกันอย่างจริงจัง พร้อมจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำกว่า 2,000 หน่วย ให้การช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยแล้ง

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(17 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 42,773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,000 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,131 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,435 ล้าน ลบ.ม หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

สำหรับแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/2563 (ระหว่าง 1 พ.ย. 62 – 30 เม.ย. 63) เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทาน มีปริมาณน้ำจัดสรรจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำจัดสรรรวมทั้งสิ้น 4,500 ล้าน ลบ.ม.(ผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาเพิ่ม 500 ล้าน ลบ.ม. จากเดิม 4,000 ล้าน ลบ.ม.) ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งทั้งประเทศ ปัจจุบัน (17 ก.พ. 63) มีการระบายน้ำตามแผนฯ ไปแล้วจำนวน 9,662 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 55 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำตามแผนฯไปแล้วจำนวน 2,760 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 ของแผนจัดสรรน้ำฯ

158193048036

ส่วนแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562 ได้วางแผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 2.83 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ ปัจจุบัน(ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.พ. 63) มีการเพาะปลูกทั้งประเทศรวม 3.80 ล้านไร่ หรือร้อยละ 134 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วรวม 0.21 ล้านไร่ แยกเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 147 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.19 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกพืชไร่-พืชผัก 0.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 75 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.01 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาไม่มีแผนการเพาะปลูกพืชเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอที่จะสนับสนุน แต่จากการสำรวจพบว่ามีการเพาะปลูกพืชนอกแผนฯ ไปแล้วประมาณ 1.92 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 0.10 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ของตนเองในการเพาะปลูก

158193049535

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะดำเนินการบริหารจัดการน้ำตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงด้านน้ำ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พร้อมกันนี้ ได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำที่กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งทั่วประเทศ รวม 1,935 เครื่อง ปัจจุบันได้ทำการติดตั้งในพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 43 จังหวัด รวม 332 เครื่อง

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมรถบรรทุกอีก 106 คัน ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปสนับสนุนแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศแล้ว 11 คัน รวมไปถึงการกำจัดวัชพืช ผักตบชวา ไม่ให้กีดขวางทางน้ำ จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมกันใช้น้ำตามแผนที่วางไว้ อย่างประหยัดและคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ในอนาคต