แผนที่นำทางเทคโนโลยี Technology Roadmap

แผนที่นำทางเทคโนโลยี Technology Roadmap

แผนที่นำทางเทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อกำหนดอนาคตที่พึงประสงค์การขยายตัวของธุรกิจ และความสำเร็จทางธุรกิจที่ยั่งยืน

ธุรกิจที่ต้องการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ มักจะนำเครื่องมือการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เรียกว่าแผนที่นำทางเทคโนโลยี หรือ Technology Roadmap (TRM) มาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอนาคต ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร

กล่าวโดยทั่วไป การจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยี หรือ TRM จะหมายถึงการผนวกประสานกันระหว่างวิสัยทัศน์ด้านการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่องค์กรจำเป็นต้องใช้กับวิสัยทัศน์ด้านแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรในระยะยาว

โดยครอบคลุมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของตลาด การเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ การวางแผนด้านวิจัยและพัฒนา การเตรียมจัดหา ทรัพยากร และการคาดการณ์การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของโลก ฯลฯ ซึ่งองค์กรเห็นว่า เป็นปัจจัยผลักดัน (Drivers) ที่สำคัญต่ออนาคตของธุรกิจ โดยมีกระบวนการและวิธีคิดอย่างเป็นระบบ

ผลที่ได้จากการระดมสมอง การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การนำเสนอความคิดริเริ่มใหม่ๆ ที่นำมาวิเคราะห์และสรุปผล จะให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแผนภูมิ ที่เรียกว่า แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี หรือ Technology Roadmap และมักจะถ่ายทอดให้เห็นเป็นภาพลักษณ์ผ่านการออกแบบ ให้เป็นรูปกราฟฟิกหรืออินโฟกราฟฟิก เพื่อใช้ในการสื่อความให้หน่วยงานและหน่วยธุรกิจทุกหน่วยงานในองค์กรเห็นภาพอนาคต และเส้นทางการเดินไปสู่เป้าหมายในอนาคต ที่พึงประสงค์ขององค์กรได้อย่างชัดเจนและรวดเร็ว

กระบวนการวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การสร้างแผนที่นำทางเทคโนโลยีในระดับองค์กร จะเริ่มต้นจากการพิจารณาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอกองค์กร ซึ่งองค์กรไม่สามารถบริหารจัดการหรือควบคุมได้โดยตรง เช่น การเปลี่ยนแปลงของสังคม การเปลี่ยนแปลงทิศทางของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง เป็นต้น

ขั้นตอนต่อไป ได้แก่ การประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกที่ได้สรุปวิเคราะห์มา จะมีผลต่อโอกาสทางการตลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร

เมื่อได้ภาพของโอกาสทางการตลาดในอนาคตที่เริ่มจะชัดเจนขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ การวาดภาพของผลิตภัณฑ์ หรือบริการในอนาคตของธุรกิจที่จะต้องสร้างขึ้น เพื่อสนองตอบโอกาสทางการตลาดที่วิเคราะห์ขึ้นได้ดีที่สุด

จากนั้นก็จะเป็นการแยกย่อยถึงองค์ประกอบต่างๆ ของผลิตภัณฑ์หรือบริการในอนาคตว่า จำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีใดบ้าง เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีการพัฒนาต่อ หรือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ผลของการวิเคราะห์ความต้องการเทคโนโลยีดังกล่าว จะนำไปสู่การกำหนดหัวข้อและเนื้อหาของงานวิจัยและพัฒนาที่ต้องทำ ตลอดไปจนถึงการประมาณการ ทรัพยากรสำคัญที่องค์กรต้องเตรียมจัดหาให้พร้อม ตรงตามช่วงเวลาที่ต้องการ ได้แก่ ทรัพยากรบุคคล เงินทุน ความรู้ความสามารถขององค์กร ความพร้อมของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเตรียมสร้างพันธมิตรภายนอกองค์กรที่จำเป็น เช่น หน่วยงานภาครัฐ สถาบัน การศึกษา มหาวิทยาลัย ฯลฯ

แผนที่นำทางเทคโนโลยียังอาจแบ่งย่อยออกตามระดับความต้องการ หรือวัตถุประสงค์เฉพาะของธุรกิจ เช่น แผนที่นำทางวิจัย และพัฒนาขององค์กร แผนที่นำทางระดับอุตสาหกรรม แผนที่นำทางการเชื่อมโยงกลุ่มอุตสาหกรรรมหลายสาขา แผนที่นำทางเพื่อเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับภาคสังคม แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีขององค์กรหรือของบริษัท และแผนที่นำทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ เป็นต้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการนำเครื่องมือ TRM หรือการสร้างแผนที่นำทางเทคโนโลยีมาใช้ ได้แก่ (1) การกำหนดวัตถุประสงค์ หรือวิสัยทัศน์ในอนาคตที่ชัดเจนของธุรกิจ (2) การได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง หรือระดับสูงสุด (3) การสรรหาหรือจัดสรรบุคลากรที่เหมาะสมเข้ามาร่วมเป็นทีมงาน TRM (4) ความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ที่ต้องการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และ (5) การมีวัฒนธรรมและนโยบายองค์กร ที่เหมาะสมและเอื้อต่อการจัดทำและยอมรับแผนที่นำทางที่ได้จากกระบวนการ TRM

จะเห็นได้ว่า กระบวนการ TRM เป็นเครื่องมือที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อกำหนดอนาคตที่พึงประสงค์การขยายตัวของธุรกิจ และความสำเร็จทางธุรกิจที่ยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “Technology Roadmapping การจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี” ISBN 978-616- 08-3159-3 จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเขียนโดย ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี รองศาสตราจารย์ ด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วิทยาลัยการจัดการนวัตกรรม มหาวิทยาลัย มหิดล ซึ่งเป็นนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้าน Technology Roadmapping ชั้นนำของประเทศไทยและมีผลงานตีพิมพ์ในวารสาร วิชาการในระดับนานาชาติมากมาย