ควบรวม 'ทีโอที - กสท' จ่อสะดุด 

ควบรวม 'ทีโอที - กสท' จ่อสะดุด 

หวั่นสรุปกรอบการทำงานเกิน 6 เดือนหลัง ครม.ลงมติ

ควบรวม กสทฯ-ทีโอที ยังวุ่น หลังพบชื่อหลังควบรวมไม่รองรับพ.ร.บ.บริษัทมหาชน เตรียมหาแนวทางเติมชื่อบริษัทเป็นมหาชนก่อนเสนอครม.เคาะใหม่ คาดไม่กระทบกระบวนการควบรวมภายใน 6 เดือน ด้าน“พุทธิพงษ์”ถกกสทช.รับฟังความคิดเห็นในการติดตามการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการรายงานข่าวเหตุการณ์ความรุนแรง พร้อมหามาตรการสกัดกั้นข่าวปลอม รวมถึงการหาแนวทางการรายงานข่าวในภาวะฉุกเฉินร่วมกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ความคืบหน้าของการควบรวมระหว่างบมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที จำกัด เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) นั้น ยังไม่สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ เนื่องจากชื่อเดิมที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติให้ควบรวม เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2563 นั้น ไม่สามารถใช้กฎหมายการควบรวมตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ในการดำเนินการได้ เนื่องจากทั้ง กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ต่างจดชื่อบริษัทเป็น (มหาชน) แต่ทว่า บริษัทที่จะควบรวมกัน ไม่มีคำว่า มหาชน จึงต้องหารือว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว มี 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก เพิ่มคำว่า มหาชน ต่อท้ายในบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ แนวทางที่สอง เลือกดำเนินการถอดคำว่า มหาชน ออกจาก ทั้ง 2 บริษัท คือ กสท โทรคมนาคม และ ทีโอที ซึ่งหากเลือกแนวทางแรก จำเป็นกระทรวงดีอีเอสจำเป็นต้องหารือกับ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) จากนั้นจึงเสนอต่อครม. เพื่อลงมติใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่หากเลือกแนวทางที่สอง ไม่ต้องนำเข้าครม.ดำเนินการเพียงแจ้งการเปลี่ยนชื่อใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า ต้องการให้ใช้ทางเลือกแรกมากกว่า เพราะบริษัทที่เป็นมหาชน การตัดสินใจโครงการต่างๆต้องผ่านคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) แต่หากไม่เป็น มหาชน การตัดสินใจไม่ได้ขึ้นอยู่กับบอร์ด แต่ขึ้นอยู่กับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สสช.) อาจทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงาน

ทั้งนี้ แม้ว่าการควบรวมยังติดปัญหาในเรื่องที่กล่าวมา แต่ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อกรอบเวลาเดิมในการควบรวมภายใน 6 เดือน เพราะการทำงานต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการย่อย 13 คณะในการดูเรื่องต่างๆ เช่น ด้านบริการ การเงิน และ บุคลากร เพื่อไม่ให้การควบรวมเกิดผลกระทบต่อสวัสดิการของพนักงาน ส่วนการว่าจ้างที่ปรึกษาได้ดำเนินการร่างสัญญาเสร็จแล้วในวงเงิน 30 ล้านบาท โดยทั้ง ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง ซึ่งจะมีการศึกษา 3 เรื่อง ได้แก่ เรื่องกฎหมาย เรื่อง บุคลากร ทีโอที รับผิดชอบ และ ที่ปรึกษาควบรวม ทั้งด้านการเงิน และ ยุทธศาสตร์ กสท โทรคมนาคม เป็นผู้รับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีเอส เดินทางมาหารือกับ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการติดตามการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนในการรายงานข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.นครราชสีมา และการหามาตรการสกัดกั้นข่าวปลอม รวมถึงการหาแนวทางการรายงานข่าวในภาวะฉุกเฉินร่วมกัน ซึ่งหลังที่ทุกฝ่ายหารือกันแล้วได้ข้อสรุปว่าเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันที่อังคารที่ 18 ก.พ. 2563 ณ ร.ร.เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลลาดพร้าว ในหัวข้อ รู้เท่าทันวางกฎหลัก mass shooting สังหารหมู่ซ้ำบนสื่อทีวีออนไลน์