Green Pulse I “คูล ทู ทัช" รักษ์โลก

Green Pulse I “คูล ทู ทัช" รักษ์โลก

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ พัฒนาแพกเกจจิ้งรักษ์โลก“คูล ทู ทัช”(Cool to Touch)โฟมถ้วยและฝาปิดเครื่องดื่มร้อนจากพลาสติกชีวภาพ ต้นทุนการผลิตต่ำ 

ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) หรือSCI-TU เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการนำโฟมมาใช้งานหลากหลายและมีปริมาณเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ถ้วยกาแฟ การใส่อาหาร เพราะกระบวนการผลิตโฟมมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกทั้งโฟมยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นอย่างมาก

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.โดยสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ จึงได้พัฒนาแพกเกจจิ้งรักษ์โลก“คูล ทู ทัช”(Cool to Touch)โฟมถ้วยและฝาปิดเครื่องดื่มร้อนจากพลาสติกชีวภาพ ต้นทุนการผลิตต่ำ มาพร้อมความสามารถในการทนร้อนไมโครเวฟได้ถึง 180 องศาเซลเซียส และย่อยสลายได้ใน2เดือนรับกระแสลดการใช้แพคเกจจิ้งจากพลาสติกและลดขั้นตอนการกำจัดขยะ

เกิดจากการผสมวัตถุดิบทางการเกษตรระหว่างพอลิแลคติคแอซิด (Polylactic acid: PLA)กับพอลิบิวทีลีนซัคซิเนต (Polybutylene succinate: PBS)เพื่อให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหนียวและยืดหยุ่น เหมาะกับการใช้งานเป็นบรรจุภัณฑ์ใส่เครื่องดื่มร้อน และผสมเส้นใยจากไม้ยูคาลิปตัส ไผ่ หรือชานอ้อย ทำให้มีน้ำหนักเบา ขึ้นรูปได้ง่าย และความสามารถในการทนอุณหภูมิได้ตั้งแต่-18 ถึง 180 องศาเซลเซียส หรือนำไปอุ่นในไมโครเวฟได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ย่อยสลายได้ทางชีวภาพด้วยการฝังกลบตามมาตรฐานสากลอย่างไรก็ดี

สำหรับนวัตกรรมดังกล่าว มีต้นทุนการผลิตไม่เกิน 5 บาท ซึ่งมีราคาค่อนข้างถูก อีกทั้งมีคุณสมบัติดีกว่าการใช้โฟม ซึ่งเมื่อนำไปใช้บรรจุอาหารที่ร้อนจะเกิดการเสียรูปหรือละลายได้ จนเกิดสารที่เป็นอันตรายมาจากภาชนะโฟม ทำให้เกิดสารเกิดการปนเปื้อนในอาหาร ดังนั้น“คูล ทู ทัช”(Cool to Touch)จึงนับเป็นทางเลือกใหม่แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารในอนาคต

แพกเกจจิ้งดังกล่าว เป็นผลงานการวิจัยของ นางสาวสุวรา วรวงศากุลนักศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตกรรมและเทคโนโลยีวัสดุ โดยมี ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโดยนวัตกรรมดังกล่าว สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองและรางวัลพิเศษจากPatent Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulfในเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ (Seoul International Invention Fair2019:SIIF 2019) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการจดอนุสิทธิบัตร และพร้อมถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต

ด้านผศ. ดร. ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) หรือSCI-TUกล่าวเสริมว่า แพกเกจจิ้ง“คูล ทู ทัช”(Cool to Touch)นับเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่สะท้อนถึงศักยภาพของคณาจารย์นักวิจัย รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่กล้าคิด กล้าพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมตอกย้ำนโยบายของSCI-TUที่มุ่งผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์คุณภาพผ่านการจัดการเรียนการสอน ในรูปแบบSCI+BUSINESSที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลก

สามารถนำไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร เพราะด้วยต้นทุนการผลิตที่ถูก ประสิทธิภาพการทนความร้อนได้สูง มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และที่สำคัญเป็นแพกเกจจิ้งที่เป็นมิตรเป็นสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ช่วยลดปัญหาขยะในปัจจุบันของประเทศไทย ซึ่งกำลังเผชิญกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น เมื่อปี2562ประเทศไทย ติดอันดับ1ใน5ประเทศของโลกที่มีปริมาณสูงโดยเฉลี่ย27ล้านตันต่อปี หนึ่งในปัญหาของขยะที่เพิ่มขึ้นมาจากการใช้แพกเกจจิ้งจากโฟม ประกอบกับ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ใช้แพกเกจจิ้งที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ประมาณ560ล้านชิ้นต่อปีดังนั้น เชื่อว่าผลงานดังกล่าว จะมาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารได้ในอนาคต