รพ.กรุงเทพ รับมือโรคไวรัสโคโรน่า19 ใช้หุ่นยนต์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

รพ.กรุงเทพ รับมือโรคไวรัสโคโรน่า19 ใช้หุ่นยนต์ ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

รพ. กรุงเทพ เดินหน้ามาตรการลดการติดเชื้อนำ “เฮลท์ตี้บอท" หุ่นยนต์อัจฉริยะ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาดภายในโรงพยาบาล เตรียมพร้อมจุดคัดกรอง ห้องความดันลบ รับมือโรคไวรัสโคโรน่า19 แนะประชาชน ดูแลสุขภาพ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ป้องกันโรค

จากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า19 ซึ่งมียอดผู้ป่วยสะสม ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ อยู่ที่ 33 ราย มีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 13 ราย เหลือรักษาในโรงพยาบาล 20 ราย ล่าสุด โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้นำนวัตกรรมทางการแพทย์มาประยุกต์ใช้กับแนวทางการดูแล และให้บริการผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโดยลดการติดต่อสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง ด้วย “หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท” ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยแทนบุคลากรโรงพยาบาล ในการส่งยาเวชภัณฑ์ อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของอื่นๆ ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่คัดแยก และควบคุมการติดเชื้อ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในสภาวะที่เกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว

158177806374

แพทย์หญิงสมจินตนา เอี่ยมสรรพางค์ ผู้อำนวยการแผนกฉุกเฉินกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวในงานแถลงข่าวเปิดตัว “เฮลท์ตี้บอท” หุ่นยนต์อัจฉริยะ ลดการติดเชื้อโรคระบาดภายในโรงพยาบาล ณ โรงพยาบาลกรุงเทพ ว่า หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า19 สิ่งสำคัญ คือ ลดการสัมผัส ไม่ว่าจะบุคลากร ญาติผู้ป่วย และตัวผู้ป่วยเอง

โดยหุ่นยนต์จะมาทำหน้าที่ส่งยา ส่งอาหาร สื่อสารระหว่างญาติ เภสัชกรสามารถอธิบายการใช้ยากับผู้ป่วยผ่านหุ่นยนต์โดยตรง นวัตกรรมตรงนี้มีการนำเอาอุปกรณ์สื่อสารเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากร นอกจากนี้ ยังมีล่ามภาษาต่างประเทศซึ่งทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการสื่อสารกับผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะภาษาจีนตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

158177806186

สำหรับ “หุ่นยนต์เฮลท์ตี้บอท” เริ่มใช้งานเมื่อปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ตัว ได้รับการพัฒนาต่อยอดโดย โรงพยาบาลกรุงเทพ และ บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (เอ็นเฮลท์) จากหุ่นยนต์ 2 ตัวแรก ที่ใช้เทคโนโลยีเดิมซึ่งทำหน้าที่ในการขนส่งยาให้แผนกต่างๆ ในโรงพยาบาล รวมถึงพื้นที่เสี่ยงที่มีสารรังสี ในโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

พัฒนามาสู่ตัวที่ 3 ซึ่งมีระบบเทเลเมดิซีน เพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วยด้วยโปรแกรมสื่อสารพูดคุยผ่านจอมอนิเตอร์ ที่ติดตั้งไว้บนตัวหุ่นยนต์ ซึ่งถูกควบคุมด้วยเครือข่ายสัญญานอินเทอร์เน็ต ช่วยให้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนญาติของผู้ป่วย ได้ติดต่อสื่อสาร ผ่านจอมอนิเตอร์ คลายกังวล และเพิ่มความมั่นใจให้ผู้ป่วยอุ่นใจตลอดการรักษา

พรพิมล เหล่างาม ผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเกิดโรคระบาดเกิดขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึง คนส่งอาหาร และล่ามก็มีภาวะกังวล หากต้องใส่ชุดป้องกันก็อาจจะใส่ไม่ถนัดเหมือนพยาบาล รวมถึง ผู้ป่วยเวลารอผลต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งผู้ป่วยอาจจะหิว หรืออยากจะคุยกับใคร เกิดความกลัว ดังนั้น การใช้หุ่นยนต์จะลดความกังวล และทำให้บุคลากรมีความสุขมากขึ้น

158177806276

“ในฐานะพยาบาลเราเองก็มีความกังวลอยากเห็นผู้ป่วย ผู้ป่วยก็อยากเห็นเรา อย่างน้อยให้เขาอุ่นใจว่ามีพยาบาลนั่งเฝ้าตลอดเวลา ต้องบอกว่าสิ่งที่เราได้พัฒนาขึ้น เกิดจากความห่วงใย เนื่องจากต้องเข้ามาดูผู้ป่วยเป็นระยะ ซึ่งต้องเปลี่ยนไปใส่ชุดป้องกันสลับไปมา และชุดก็มีจำกัด ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องคิดว่า หนึ่งจะประหยัดต้องทำอย่างไร สอง ลดความกังวลพยาบาลต้องทำอย่างไร และญาติที่มีความเป็นห่วงลูกหลานก็อยากเข้ามาเยี่ยม ทำอย่างไรให้เขาไม่ต้องสวมชุดป้องกันเข้ามา เพราะการสวมใส่ค่อนข้างยาก” พรพิมล กล่าว

ด้าน นายแพทย์นิวัติ อินทรวิเชียร รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลมีนโนบายที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ และสนับสนุนในการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการแพทย์มาใช้ในโรงพยาบาลเสมอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น เนื่องจาก โรงพยาบาลกรุงเทพ มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก และมีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่มีความเสี่ยงในการระบาดของโรคดังนั้น การนำหุ่นยนต์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มาผสานกับความรู้ความสามารถทางการแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทุกท่าน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายของโรคในพื้นที่โรงพยาบาลและพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย

158177806586

“การที่จะทำให้เกิดเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาได้ ต้องผ่านการพูดคุย ทำความเข้าใจในการทำงานของหลายภาคส่วนในโรงพยาบาล เราประชุมกันทุกวันว่าปัญหามีอะไรบ้างและตามแก้ปัญหาจนพร้อมที่จะให้บริการ เราจะทำอย่างไรให้การดูแลยังเหมือนเดิม และผู้ป่วยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกทอดทิ้ง บุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออาจนำเชื้อไปสู่ครอบครัวเขา ดังนั้น หากมีการพัฒนาหุ่นยนต์ต่อไปเรื่อยๆ ในรุ่นต่อๆ ไปจะสามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้น”

นายแพทย์นิวัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ที่มาตรวจคัดกรองโรคไวรัสโคโรน่า19 ตั้งแต่ช่วงระบาดใหม่ๆ มีจำนวนมากพอสมควร ทั้งชาวจีน คนที่สัมผัสกับผู้ป่วยชาวจีน รวมถึงคนไทย ดังนั้น เราจึงต้องจัดให้มีพื้นที่ห้องแยกจากผู้ป่วยทั่วไป โดยเป็นห้องแอร์แยกส่วนจากแอร์ส่วนรวมป้องกันอากาศไหลเวียน ช่องทางเดินต่อจากห้องฉุกเฉินมาถึงห้องคัดกรองสามารถเดินออกนอกอาคารได้

158177806096

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้จัดให้ทุกจุดลงทะเบียน มีการคัดกรองผู้ป่วยทุกราย โดยสอบถามประวัติการเดินทาง อาการไข้และอาการทางระบบทางเดินหายใจ เพื่อนำส่งผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปยังพื้นที่บริการที่จัดไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการวัดอุณภูมิร่างกาย และตรวจประเมินตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค กรณีผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามข้อบ่งชี้ จะต้องส่งตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง โดยผู้ป่วยจะได้รับการดูแลระหว่างรอผลตรวจในพื้นที่คัดแยก รวมถึงเตรียมห้องความดันลบ สำหรับรองรับคนไข้กลุ่มนี้โดยเฉพาะ

“นอกจากนี้ เรายังทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรค ในการหมุนเวียนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงไปที่สถาบันบำราศนราดูร และ โรงพยาบาลราชวิถี ณ ตอนนี้เรื่องของโรคไวรัสโคโรน่า19 จึงไม่ได้กระทบต่อห้องหรือเตียงผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาล”

นายแพทย์นิวัติ กล่าวต่อไปว่า หากดูผู้ป่วยในประเทศไทยอัตราการป่วยไม่ได้สูงมาก ความรุนแรงของโรคก็ไม่ได้สูงเท่าประเทศจีน เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยส่วนใหญ่แข็งแรง และการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานมีประสิทธิภาพ ขณะที่ประเทศจีนผู้ป่วยเขาเยอะ อากาศเขาเย็นกว่าทำให้ดูแลรักษายาก”

“ดังนั้น คำแนะนำทั่วไปคือ การรักษาสุขอนามัยตามที่กระทรวงสาธารณสุขบอก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น ล้างมือบ่อยๆ พกพาแอลกอฮอลล์เจล หากไม่มีให้ใช้สบู่ล้างมือธรรมดาก็ได้ เพียงแค่ล้างบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนแออัด ใครที่ป่วยก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันไม่ให้ไอจามรบกวนคนอื่น ออกกำลังกายเล่นกีฬาให้ร่างกายแข็งแรง” นายแพทย์นิวัติ กล่าวทิ้งท้าย