4 สเต็ปเก็บเงิน ‘แต่งงาน’ สไตล์ ‘มนุษย์เงินเดือน’

4 สเต็ปเก็บเงิน ‘แต่งงาน’ สไตล์ ‘มนุษย์เงินเดือน’

เปิด 4 ขั้นตอนวางแผน 'เก็บเงินแต่งงาน' ที่ 'มนุษย์เงินเดือน' สามารถทำได้โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินจนกลายเป็นภาระไปทั้งชีวิต

เดือนแห่งความรักวนมาถึงอีกปี เป็นจุดเริ่มต้นของ 'คู่รัก' หลายคู่ใช้โอกาสนี้ 'ขอแต่งงาน' เพื่อสานต่อความรักฉันท์สามี ภรรยาอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าฤกษ์ยาม คือค่าใช้จ่ายที่ตามมากับงานแต่งงานที่อาจสร้างภาระให้ชีวิตคู่ในระยะยาวได้ หากไม่มีการวางแผนที่ดี

สำหรับ 'มนุษย์เงินเดือน' ที่ตั้งเป้าจะแต่งงานในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ควรเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ตามสเต็ป ที่จะทำให้ชีวิตของคุณง่ายขึ้น

158171067688

พีรภัทร ฝอยทอง CFP ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย/นักวางแผนการเงินส่วนบุคคล ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผน เก็บเงินแต่งงาน ของมนุษย์เงินเดือนว่า "การเริ่มต้นชีวิตคู่ อย่าเริ่มต้นด้วยการเป็นหนี้” พร้อมเคล็ดไม่ลับในการเก็บเงินแต่งงาน สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่เป็นไปได้ และห่างไกลวงจรหนี้ที่ไม่จำเป็น

การเริ่มต้นชีวิตคู่ อย่าเริ่มต้นด้วยการ 'เป็นหนี้'

  • สเต็ปที่ 1 : มีเป้าหมาย

การวางแผนเก็บเงินแต่งงาน ก็คล้ายๆ กับการวางแผนทางการเงินอื่นๆ ที่ต้องมี ‘เป้าหมายชัดเจน โดยเริ่มต้นจาก การวางแผนว่าจะจัดงานด้วยงบประมาณเท่าใด ก่อนที่จะเตรียมงานให้อยู่ในกรอบงบประมาณที่วางไว้

พีรภัทร แนะนำว่า สำหรับคนที่มีงบประมาณไม่มาก สามารถลดงบประมาณได้ด้วยการบริหารจัดการที่เน้นการ ‘ลงแรง แทนการลงเงินเพียงอย่างเดียว เช่น การเลือกออแกไนซ์ที่เหมาะสมกับขนาดงาน โดยคู่บ่าวสาวอาจช่วยเติมเต็มในส่วนอื่นๆ อย่างการหาสถานที่ซึ่งทำได้ด้วยตัวเอง 

เมื่อกำหนดเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าจะใช้งบประมาณในการแต่งงานเท่าไหร่ เช่น 50,000 บาท 100,000 บาท 500,000 บาท หรือ 1,000,000 บาท ก็จะสามารถคำนวณคร่าวๆ ได้ว่า ควรเก็บเงินให้ได้เดือนละเท่าใดให้ถึงเป้าหมายในเวลาที่กำหนด 

158170962990

  • สเต็ปที่ 2 : ออมอย่างมีวินัย ให้ได้ตามเป้า

กฎเหล็กที่จะทำให้เป้าหมายทางการเงินใดๆ ก็ตามสำเร็จตามที่ตั้งไว้ เช่นเดียว กับการเก็บเงินแต่งงานที่ต้องอาศัยวินัยในการออมอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน โดยอาจเริ่มจากเงินจำนวนไม่มาก เช่น ทยอยออมเดือนละ 2,000–3,000 บาทอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 3 ปี จะได้เงิน 72,000-108,000 บาทเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการออมทรัพย์แล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ช่วยให้เงินฝากเติบโตขึ้นอีกเล็กน้อย เช่น 'ฝากประจำพิเศษ' ให้ผลตอบแทนราว 1-2 % (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์), การฝากเงินผ่าน 'สลากออมทรัพย์' ที่ทำให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 2% และมีโอกาสลุ้นรับรางวัลแจ็คพอต ที่หากโชคหล่นทับอาจได้เงินก้อนที่ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายเร็วยิ่งขึ้นก็เป็นได้

158152757516

  • สเต็ปที่ 3 : เข้าใจลงทุน

ระยะเวลา 1-3 ปี ในการเตรียมงานแต่งงาน ถือเป็นระยะเวลาที่สั้นสำหรับการลงทุนเพิ่มผลตอบแทน ทำให้ไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้ เช่น การลงทุนในหุ้น ยากที่จะคาดเดาถึงผลลัพธ์ในอีก 1-3 ปีข้างหน้า เสี่ยงต่อความล้มเหลว

อย่างไรก็ดี การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยมีการวางแผนอย่างเหมาะสม ก็มีส่วนช่วยให้เงินสำหรับการแต่งงานงอกเงยขึ้นได้

เช่น การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 3-4% แม้จะดูไม่สูงแต่เป็นผลตอบแทนมากกว่าการออมทรัพย์แบบธรรมดาหรือฝากประจำ อย่างไรก็ดี การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนด้วย

  • สเต็ปที่ 4 : แต่งงาน พร้อมวางแผนบริหารทรัพย์สิน

หลังจากที่แต่งงาน และเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่อย่างเต็มรูปแบบ พีรภัทร แนะนำว่า “การใช้ชีวิตคู่ต้องมีความชัดเจนระหว่างกัน” มีพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันพอสมควร ไม่ใช่ทุกอย่างเป็นของที่ใช้ร่วมกันทั้งหมด เพราะไม่มีใครรู้ว่าชีวิตคู่จะต้องมีอันเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตข้างหน้า

ทะเลาะกันวันแรก จะดีกว่าวันแรกหวานหอมดูดดื่ม แล้วสุดท้ายในอนาคตข้างหน้ากลายเป็นปัญหาใหญ่ และอาจกลายเป็นมองหน้ากันไม่ติด

ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพย์สินจึงต้องเริ่มต้นเริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับการสร้างครอบครัว โดยควรตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ที่แบ่งไว้สำหรับครอบครัว พ่อแม่ พี่น้องของแต่ละฝ่าย รวมถึงใช้จ่ายส่วนตัวตามไลฟ์สไตล์ และทรัพย์สินใดเป็นส่วนกลางหรือสินสมรส ที่จะใช้วางแผนครอบครัวร่วมกัน

พีรภัทร กล่าวว่า การใช้ชีวิตคู่จะต้องวางแผนการเงินร่วมกัน ทั้งเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อาจเริ่มต้นจากการลิสต์เป้าหมายที่ต้องการทำร่วมกัน เช่น วางแผนซื้อบ้าน วางแผนการศึกษาลูก วางแผนเงินสำหรับเกษียณของทั้ง 2 คน โดยหลังจากที่มีการตั้งเป้าหมายแล้วจะต้องแบ่งเงินออมตามแต่ละเป้าอย่างมีวินัย ซึ่งการสะสมไปเรื่อยๆ ในระยะยาวมากกว่า 20-30 ปี จะช่วยให้เงินจำนวนไม่มาก ค่อยๆ เติบโต และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ไม่ยากจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้การวางแผนเตรียมเงิน เตรียมงาน จะต้องใช้ทั้งเวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อให้ได้มาซึ่ง 'งานแต่งงานที่เหมาะสมกับตัวเอง' จะไม่ได้ง่ายดายนัก แต่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่ไม่ต้องมีหนี้สินที่ไม่จำเป็นติดตามภาระหนักอึ้งตั้งแต่เริ่มชีวิตคู่ ที่มีความท้าทายอีกหลายมิติ ไม่ใช่แค่การ 'บริหารเงิน' และ 'บริหารความสัมพันธ์' ไปพร้อมๆ กัน