คงจะดี ถ้าไม่ต้องมีผู้นำ!

คงจะดี ถ้าไม่ต้องมีผู้นำ!

เห็นด้วยหรือไม่ กับคำกล่าวที่ว่าคงจะดีถ้าไม่ต้องมีผู้นำ เพราะเราจะได้มีคนที่พร้อมสร้างสรรค์แบบไม่หยุดนิ่ง มีทีมที่เปิดกว้างกับการทดลองทำอะไรใหม่ๆ และมีเครือข่ายเพื่อนพันธมิตรที่ไม่ต้องมุ่งแข่งแย่งเอาประโยชน์จากกัน

เปล่าๆ ไม่ได้จะแซว หรือหาเรื่องกับใคร แต่กำลังสะท้อนเสียงในใจของคนในยุคสมัยนี้ ที่มาของเสียง มีทั้งจากที่ได้ฟังจากคนรอบข้างรวมทั้งลูก ศิษย์ และที่มาจากการไปฟังผู้รู้ในเวทีต่างๆ เค้าเล่าให้ฟังเสียงที่สะท้อนมา ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการจะทำงานให้ได้ผลดีที่สุด ทั้งทีมน่าจะมาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ต่างคนต่างก็เป็นผู้นำในตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาออกคำสั่งหรือบอกให้ต้องทำสิ่งต่างๆ

สัปดาห์นี้มีโอกาสไปฟังการอัพเดทความรู้ A new decade of leadership learning จัดโดยบริษัท Slingshot ซึ่งทาง CEO ของบริษัทฯได้มาให้ข้อคิดถึงเทรนด์การเป็นผู้นำในทศวรรษใหม่นี้ ตอนหนึ่งท่านได้พูดถึง Shared Leadership หมายถึง การที่ทุกคนมามีความเป็นผู้นำร่วมได้ ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องมีตำแหน่งผู้นำในองค์กร แต่ทุกคนล้วนสามารถมีความเป็นผู้นำในตัว ทั้งนี้ ต้องมาจากปัจจัยพื้นฐานหลายอย่าง

ในระดับบุคคลต้องมีความชอบที่จะเรียนรู้ และลองทำอะไรใหม่ๆ ต่างจากสภาพการเป็นผู้ตามขององค์กรในอดีตที่ต้องการคนร่วมทีม ที่พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งและชอบที่จะอยู่ในสภาวะควบคุมได้ ทั้งนี้ลักษณะสถานการณ์รอบตัวในปัจจุบัน ก็ไม่เอื้ออำนวยให้เป็นในแบบเดิมแล้ว

เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายด้านและรวดเร็วรุนแรง การเตรียมบุคลากรที่มีความพร้อมอยู่ในความผันผวน และพร้อมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญมากกว่า และคนเหล่านี้ก็มักจะมีลักษณะไม่ชอบถูกบังคับให้ต้องจำนนทำ

สังเกตได้ชัดสุดก็จากคนรุ่น Gen Y หรือ Gen Z ที่ผู้บริหารยุคเก่าเคยบ่นว่ามีความดื้อ ไม่ค่อยฟังใครลึกๆ แล้วก็มาจากฐานความไม่อยากอยู่นิ่งต้องการการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่ที่จะผลักดันเอาด้านบวกมาใช้สร้างประโยชน์ให้องค์กรได้หรือเปล่า

ปัจจัยถัดมาว่าด้วยระดับกลุ่ม แม้จะมีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ต้องพร้อมทำงานเป็นทีมเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า โดยพื้นฐานสำคัญมาจากการเรียนรู้ที่จะฟังอย่างเปิดใจไม่ตัดสินอะไรไปก่อน และเมื่อฟังแล้วก็ควรพิจารณาแง่มุมที่จะผสานใช้ หรือถ้าเห็นว่าไม่ใช่ก็ต้องพร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนก่อนไปสู่การตัดสินใจ

ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งเล่าไว้น่าสนใจว่า ผู้นำบางท่านพยายามให้ลูกน้องได้พูดแสดงความเห็น แต่สุดท้ายก็สรุปเองว่าผมเห็นต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ลูกน้องได้แต่คิดในใจว่า แบบนี้แล้วจะให้พูดไปทำไม (ฟระ?)

ทีมที่สามารถสร้างความเป็นผู้นำของทุกคนในทีมได้ ยังต้องมีความเปิดกว้างกับผลงานที่ไม่จำเป็นต้องออกมาสมบูรณ์สุดหรือผิดพลาดไม่ได้ เรื่องนี้ต้องปลดล็อกกันชุดใหญ่เพราะองค์กร

ในยุคหนึ่งพูดถึงแต่เรื่องความเป็น Excellence กับเรื่องการกำจัดความเสี่ยงเลย ทำให้คนไม่กล้าขยับตัวหลุดจากกรอบที่วางไว้และคิดว่าดีแล้ว แต่ยุคนี้พบว่ายิ่งพยายามเป็นแบบนั้นยิ่งเสี่ยงจะล่มสลาย เพราะมีความแข็งตัว จนไม่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ เมื่อเจอความเปลี่ยนแปลงจึงปรับตัวตามไปไม่ทัน

สุดท้ายถัดจากระดับกลุ่มหรือองค์กรยังมีระดับการประสานความร่วมมือกับเครือข่าย หรือการเชื่อมโยงกับข้างนอก ซึ่งหมายถึงว่า ความเป็นผู้นำถูกกระจายแบ่งไปกับหน่วยงานอื่น คงจะสนุกดีถ้าในเกมการแข่งขันไม่ต้องมีผู้นำหรือผู้ตาม ไม่ต้องมีผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่มีผู้นำร่วมกันในตลาด ขึ้นอยู่กับว่าต่างคน ต่างวัดผลและมุ่งทำงานของตัวเองไปในมิติไหน แบบนี้อาจทำให้องค์กรต่างๆ มองเห็นโอกาสใหม่ๆ เพราะไม่ถูกตัวชี้วัดตัวเดียวมาครอบงำไว้

"คงจะดีถ้าไม่ต้องมีผู้นำ" จริงไหม? เราจะได้มีคนที่พร้อมสร้างสรรค์แบบไม่หยุดนิ่ง มีทีมที่เปิดกว้างกับการทดลองทำอะไรใหม่ๆ และมีเครือข่ายเพื่อนพันธมิตรที่ไม่ต้องมุ่งแข่งแย่งเอาประโยชน์จากกัน