ผ่าอาณาจักร 'บีทีเอส' รุกมากกว่ารถไฟฟ้า

ผ่าอาณาจักร 'บีทีเอส' รุกมากกว่ารถไฟฟ้า

จากจุดเริ่มต้นในการเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2531 สู่การรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายแรกของไทยในปี 2535 แต่ใช่ว่าเส้นทางของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) หรือชื่อเดิมคือ บมจ.ธนายง จะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ

เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายแรกได้สำเร็จในปี 2542 แต่หลังจากนั้นกลับต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ จากผลกระทบของวิกฤตเมื่อปี 2540 ก่อนจะออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ในปี 2551

หลังจากนั้น BTS ยังคงเดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จนในปี 2562 BTS มีผู้โดยสารใช้บริการถึงประมาณ 6.6 แสนเที่ยวคนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม BTS เดินทางมาไกลกว่าการเป็นแค่ "ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า" ของไทยเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อลองพิจารณาธุรกิจของบริษัทในตอนนี้ จะเห็นว่า BTS ได้นำเงินออกไปลงทุนต่อยอดในธุรกิจอื่นๆ ทำให้ "ธุรกิจหลัก" ของบริษัทในปัจจุบันแตกย่อยออกเป็น "4 กลุ่มหลัก" คือ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ 

ทั้งนี้ ธุรกิจระบบขนส่งมวลชนยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักประมาณ 80% รองลงมาคือสื่อโฆษณาประมาณ 14% บริการ 5% และอสังหาริมทรัพย์อีก 1% อิงจากผลประกอบการไตรมาสล่าสุด

สำหรับธุรกิจระบบขนส่งมวลชน BTS ได้กำหนดเป้าหมายของบริษัทในปี 2562/2563 (เดือน เม.ย. 2562 – มี.ค. 2563) โดยคาดว่าจะรับรู้รายได้จากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี – แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว – สำโรง) จำนวน 2.3 – 2.7 หมื่นล้านบาท และคาดรายได้จากงานจัดหาขบวนรถไฟฟ้าสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว รวมถึงรายได้จากการให้บริการติดตั้งงานระบบสำหรับส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง – เคหะฯ) และสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต – คูคต) จำนวน 4 – 6 พันล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าจะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยรับสำหรับโครงการส่วนต่อขยายสีเขียว สายสีชมพูและสีเหลือง จำนวน 1.5 – 1.9 พันล้านบาท ส่วนรายได้จากการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง คาดว่าจะทำได้ 3.4 พันล้านบาท ขณะที่อัตราการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสายหลักจะอยู่ที่ 4 – 5% จากการเปิดให้บริการสายอื่นๆ ที่ครอบคลุมมากขึ้น

158169081163

บล.ทิสโก้ ระบุว่า BTS ยังคงมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างรอการเจรจาและประมูล อาทิ 1) การเจรจาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2) โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย มูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญารับจ้างบริหาร คาดจะลงนามกับกรมทางหลวงได้ในเดือน ก.พ. – มี.ค. นี้ 3) โครงการเมืองการบิน สนามบินอู่ตะเภา เป็นการร่วมทุนกับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) และบมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) โดยบริษัทถือหุ้น 35% คาดจะได้ข้อสรุปในเดือน มี.ค นี้

รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม - บางขุนนนท์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท คาดจะมีการคัดเลือกเอกชนภายในเดือน มิ.ย. และได้ผู้ชนะประมูลภายในเดือน ก.พ. 2564 ส่วนโครงการล่าสุดคือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โดยแบ่งออกเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) ระยะทาง 196 กม. และ 2.สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กม. คาดว่าจะลงนามสัญญากับกรมทางหลวงได้ภายในต้นปี 2563 ซึ่ง BTS ถือหุ้น 40%

ด้านธุรกิจโฆษณา ซึ่งดำเนินการผ่านบริษัทลูกอย่าง บมจ.วีจีไอ (VGI) ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ให้บริการสื่อโฆษณานอกบ้าน สู่การเป็นผู้ให้บริการแบบออฟไลน์และออนไลน์แบบครบวงจร ทั้งนี้ การผสานธุรกิจสื่อโฆษณา ธุรกิจบริการชำระเงิน และธุรกิจขนส่งเข้าด้วยกัน รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพฤติกรรมผู้บริโภค จากทั้ง 3 แพลตฟอร์ม จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับวีจีไออีกด้วย

ทั้งนี้ VGI ตั้งเป้ารายได้ทั้งปี 6 – 6.2 พันล้านบาท ในขณะที่ EBITDA Margin และอัตรากำไรสุทธิ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 40 – 45% และ 20 – 25% ตามลำดับ โดย 9 เดือนที่ผ่านมา VGI มีรายได้รวม 5.2 พันล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิที่ 20.38%

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีฐานรายได้หลักจาก บมจ.ยู ซิตี้ (U) ซึ่งเป็นบริษัทร่วม ได้วางเป้าหมายรายได้ในปี 2562 ที่ 7.2 – 7.5 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากธุรกิจโรงแรมเป็นหลัก และคาดว่าจะมี EBITDA margin ขั้นต่ำที่ 20% โดย 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2562 บริษัททำรายได้ไปแล้ว 6.3 พันล้านบาท และมี EBITDA margin 20%

ส่วนธุรกิจบริการ ปัจจุบัน BTS ลงทุนผ่านบริษัทต่างๆ ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2561/2562 ธุรกิจนี้สร้างรายได้ให้กับ BTS ราว 1.1 พันล้านบาท คิดเป็นประมาณ 2% ของรายได้รวมจากการดำเนินงาน โดยมีธุรกิจชูโรงคือ แรบบิท รีวอร์ดส ซึ่งตั้งเป้าจะเป็นโปรแกรมสะสมคะแนนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยฐานผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส บัตรแรบบิท, Rabbit LinePay และ Kerry Express ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกกว่า 4.2 ล้านราย

158169083379

158169086269

นอกจากนี้ BTS ได้เข้าไปถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ ได้แก่ บมจ.วีจีไอ (VGI) ในสัดส่วน 21.22% บมจ.กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) ในสัดส่วน 33.33% บมจ.ยู ซิตี้ (U) สัดส่วน 36.17% บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) สัดส่วน 18.22% บมจ.บางกอก เดค-คอน (BKD) สัดส่วน 9.17% บมจ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ (NOBLE) สัดส่วน 9.11% บมจ.อาร์เอส (RS) สัดส่วน 6.06% บมจ.เจ มาร์ท (JMART) สัดส่วน 3.53% บมจ.สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง (SPI) สัดส่วน 0.87% และบริษัท ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการผลักดันการเติบโตของแต่ละกลุ่มธุรกิจ

รวมถึงการนำเงินไปลงทุนธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อาทิ ธุรกิจโลจิสติกส์ผ่าน Kerry Express ถือหุ้น 23% ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ผ่าน กรุ๊ปเวิร์ค ถือหุ้น 20% 

ทั้งนี้ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า กำไรปกติของ BTS จะเติบโตเฉลี่ย 24.3% ต่อปี ระหว่างปี 2562 - 2567 เร่งตัวขึ้นจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 11.3% ต่อปี โดยคาดการณ์กำไรปกติปี 2562/2563 และ 2563/2564 ที่ 3.9 พันล้านบาท และ 4.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.3% และ 17.9% ตามลำดับ เป็นผลจากการทยอยเปิดส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ซึ่งเปิดดำเนินการแล้ว 5 สถานี ในปี 2562 และจะเปิดที่เหลืออีก 11 สถานีในปี 2563 และโครงการรถไฟสายสีทองระยะที่ 1 ที่คาดจะเริ่มให้บริการ ก.ย. 22563 

นอกจากนี้ คาดรายได้จาก VGI เพิ่มขึ้น 30.6% และ 12.2% ตามลำดับ หนุนโดยการผสานกับ PLANB ที่คาดชัดเจนขึ้น รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมที่จะเพิ่มขึ้น 36.3% และ 20.1% ตามลำดับ โดยหลักได้แรงหนุนจากส่วนแบ่งกำไรของ BTSGIF และส่วนแบ่งกำไรจาก Kerry Express