ทุนไทยลุยนวัตกรรม 'โดรนการเกษตร'

ทุนไทยลุยนวัตกรรม 'โดรนการเกษตร'

“เออาร์วี” เล็งจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทลูกไทยคม ช่วงไตรมาส 2 นี้ ลุยพัฒนาโดรนเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมเกษตร เตรียมผลิตหุ่นยนต์ 2 รุ่นให้บริการเชิงพาณิชย์ ปั๊มรายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรม E&P

นายธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทลูกของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ภายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากทั้ง 2 บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกันในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม ให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มบริการครบวงจร เข้ามาช่วยทำการเกษตรในรูปแบบของสมาร์ทฟาร์มมิ่ง

โดยปีนี้จะเห็นการพัฒนาโดรนพ่นสเปรย์ที่มีรูปแบบแตกต่างออกไป หรือไม่เหมือนกับของที่อื่น เป็นการผสมผสานการวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics ) เข้ามาร่วมด้วย แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งคาดหวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้เจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเกษตร (Agricultural industry) ให้กับบริษัทได้ เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยกว่า 70% อยู่ในภาคการเกษตร แต่ขับเคลื่อนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ประมาณ 10% เท่านั้น จึงมีโอกาสที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มการเติบโตผ่านภาคการเกษตรได้อีกมาก

นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าพัฒนาหุ่นยนต์ต่างๆ เพื่อให้บริการสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่จะเป็นการช่วยซัพพอร์ตธุรกิจของบริษัทแม่ คือ ปตท.สผ.เป็นหลัก และยังเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เช่น ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยในเดือน มี.ค.นี้ มีแผนจะทำการผลิตเชิงพาณิชย์ในส่วนของหุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย (Inspection-class Autonomous Underwater Vehicle - IAUV) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำได้โดยอัตโนมัติ เช่น ตรวจสอบท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำ และโครงสร้างของแท่นผลิตปิโตรเลียมใต้ทะเล เพื่อป้องกันการชำรุด โดยไม่ต้องอาศัยเรือสนับสนุนหรือเจ้าหน้าที่บังคับ ซึ่งจะนำไปใช้งานตรวจสอบท่อใต้ทะเลในอ่าวไทยของ ปตท.สผ.

ขณะที่ช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้ มีแผนที่จะทดสอบการใช้งานจริงในทะเลและผลิตเชิงพาณิชย์ในส่วนของหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงท่อใต้น้ำ (Subsea Flowline Control and Repair Robot : SFCR) หรือ หุ่นยนต์นอติลุส (NAUTILUS) ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลสำหรับใช้ในการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงท่อส่งปิโตรเลียมใต้น้ำ ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพประเทศนอร์เวย์ ซึ่งหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัว คือ IAUV และ NAUTILUS จะเป็นไฮไลท์หลักของเป้าหมายสร้างรายได้ในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลังงาน และอุตสาหกรรม E&P ปีนี้

“บริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ในปีนี้เติบโตขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 2-3 เท่า หลังจากสามารถใช้บริการเชิงพาณิชย์หุ่นยนต์ 2 ตัว คือ IAUV และ NAUTILUS รวมถึงการพัฒนาโดรนพ่นสเปรย์ และอาจมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นอื่นๆ มาเสริมทัพให้กับธุรกิจ oil & gas ด้วย”

158168600278

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้บริษัทยังมีแผนจะพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แพลตฟอร์ม ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยจะนำ data analytics เข้ามาช่วยในเรื่องการประมวลผลต่างๆ เป็นต้น

สำหรับแผนขยายการให้บริการออกไปยังต่างประเทศนั้น ในปีนี้ยังคงเป็นการให้บริการตามรอยการลงทุนของบริษัทแม่ที่เข้าไปทำธุรกิจ E&P ในประเทศมาเลเซีย หลังซื้อกิจการ “เมอร์ฟี ออยล์” ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันว่า ซึ่งการให้บริการออกไปต่างประเทศนั้นจะเป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท ที่ไม่ได้มองแค่การเป็นผู้นำในประเทศ แต่จะต้องเป็นผู้นำด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย