ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการ

ส่องแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของรัฐบาลไทย ในการดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ครอบคลุมสิทธิประเภทอะไร ใครได้รับผลกระทบนี้บ้าง

วันที่ 29 ต.ค.2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (แผน NAP) ระยะที่ 1 ช่วงระหว่างปี 2562-2565 เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ อันเป็นประเด็นที่ซับซ้อน แผน NAP จึงมุ่งเน้น 4 ด้าน ได้แก่ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และ (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ เป็นหลัก

ในฐานะที่ผู้เขียนได้ศึกษาและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการประกอบธุรกิจในประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา และได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุย รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย จึงอยากจะสะท้อนประเด็นปัญหาที่ควรต้องเร่งดำเนินการ โดยขอจำแนกตามประเภทของสิทธิ ดังนี้

(1) สิทธิของผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้น หรือผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจร่วมควรต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม และได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับธุรกิจครบถ้วนรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการลงทุนสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย เช่น Initial Coin Offering (ICO) หรือสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency)

เช่นเดียวกันการฉ้อโกงในรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นมานานและบ่อยครั้ง และเหมือนว่ายังคงเป็นปัญหาที่ภาครัฐยังไม่สามารถให้การคุ้มครองเยียวยาได้อย่างเหมาะสม

(2) สิทธิแรงงาน ปัจจุบันยังคงเป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายแรงงานภาคปฏิบัติ ซึ่งต้องการจำนวนพนักงานตรวจแรงงานให้มากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพของหลักเกณฑ์ วิธีการ และความถี่ในการตรวจสอบ

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญ คือควรจะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของแรงงานที่ถูกจ้างในรูปแบบของ “สัญญาจ้างเหมาบริการ” หรือ “สัญญาจ้างชั่วคราว” ทั้งส่วนภาครัฐและส่วนเอกชน

(3) สิทธิสำหรับธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานสำหรับสิทธิประเภทนี้ มีหลายประเด็นข้อเสนอที่สำคัญ เพราะปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานมีความซับซ้อนสูง และเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ตลอดจนแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน

ประเด็นแรก คือ การผลักดันในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน สามารถเริ่มได้จากภาครัฐที่จะเข้ามาสนับสนุนธุรกิจที่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน โดยภาครัฐสามารถกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไว้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการทำสัญญากับภาครัฐ

ประเด็นที่ 2 คือ ในกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา 2560 ในปัจจุบันยังพบว่าอำนาจในการต่อรองไกล่เกลี่ยยังไม่เท่าเทียมกัน จึงควรสนับสนุนให้อัยการสามารถเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดความเท่าเทียมกันสำหรับเกษตรกรมากยิ่งขึ้น

ประเด็นที่ 3 คือ การจับตาการเข้ามาลงทุนของธุรกิจจีน ที่อาจเข้ามาในลักษณะของการผูกขาด การทุ่มตลาด การอาศัยนอมินีในการทำธุรกิจซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในทุกกรณีอาจจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

(4) สิทธิชุมชน ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในปัจจุบันเกิดจากหลายสาเหตุ และเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจที่จะต้องเข้ามาร่วมมือช่วยกันแก้ไข เช่น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไร่อ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตของธุรกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากโรงงานและการขนส่ง ซึ่งต่างก็มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจเช่นเดียวกัน

อีกประเด็นที่ควรเร่งพิจารณา คือ ปัญหาการกำหนดกฎหมายตาม ม.44 และการยกเว้นกฎหมายในช่วงรัฐบาล คสช. ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน แม้ว่าบางส่วนจะมีการยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ กสม. และภาควิชาการก็ควรเข้ามาพิจารณาถึงผลกระทบของกฎหมาย รวมทั้งปรับปรุง แก้ไขและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ประเด็นสุดท้าย คือ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้เพิ่มเติมได้มากขึ้น โดยเน้นการติดตามและดูแลการจัดการหลังจากธุรกิจได้ดำเนินการไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อตรวจสอบว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นไปตามที่ศึกษาไว้จริง และกลไกการลดทอนผลกระทบ และการเยียวยาได้ถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม

(5)การลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติในปัจจุบัน เริ่มพบกรณีร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกพรมแดนเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกประเทศจึงมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ทางกสม. และภาครัฐ จึงควรมีศูนย์กลางในการดำเนินการติดตามและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนนอกอาณาเขต เช่นเดียวกัน การผลักดันการเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวพันไปถึงต่างประเทศ ควรเริ่มต้นจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้เป็นแบบอย่าง

(6) สิทธิผู้บริโภคปัญหาสิทธิผู้บริโภคเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆมานาน การพัฒนากลุ่มงานพิเศษเพื่อให้ความสำคัญกับปัญหาอาจจะมีความเหมาะสม

(7) สิทธิประชากรกลุ่มเฉพาะประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ HIV ยังพบว่าถูกละเมิดสิทธิอยู่เสมอ แต่เป็นปัญหาที่ค่อนข้างกระจาย การพุ่งเป้าไปที่การคุ้มครองทีละปัญหาอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสม เช่น การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อให้มีการฟ้องร้องกรณีถูกเลือกปฏิบัติ ในรูปแบบคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง และเพื่อให้สามารถเรียกร้องการเยียวยาได้

(8) ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน กฎหมายคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนของไทยยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ จึงควรเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย รวมถึงให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา 2546ให้เหมาะสมกับสถานะและความต้องการของพยาน

(9) ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในกรณีของรัฐวิสาหกิจปัจจุบันพบว่ามีเพียงรัฐวิสาหกิจรายเดียวที่มีเจตจำนงชัดเจนว่าจะเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ภาครัฐจึงควรกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องมีการเคารพสิทธิมนุษยชนในทุกๆ ด้าน และควรจะต้องกำหนดการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นดัชนีวัดประเมินผล (KPI) ที่สำคัญของแต่ละรัฐวิสาหกิจ

นอกจากการเร่งแก้ไข และเฝ้าระวังจับตามองประเด็นสิทธิมนุษยชนทั้ง 9 กลุ่มข้างต้นแล้ว ภาครัฐ และ กสม. ควรดำเนินการในระดับฐานราก โดยผลักดันการจัดทำระบบการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence หรือ HRDD) ให้เป็นตัวอย่าง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจให้ครบถ้วนทุกสิทธิเพื่อให้เห็นแนวทางการตรวจสอบที่ชัดเจนเหมาะสมสำหรับแต่ละกรณี

น่ายินดีที่ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่ประกาศใช้แผน NAP สะท้อนความพยายามในการป้องกันและแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ดี แนวทางของแผน NAP ยังเป็นแค่การปฏิบัติในระยะเริ่มแรก ยังมีปัญหาสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้วหรือกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขแผน NAP ในระยะต่อไปให้มีความครอบคลุมและเท่าทันต่อปัญหา รวมถึงควรมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างกลไกเข้ามาร่วมกันให้ข้อมูล แก้ไข ติดตามและประสานงานการปฏิบัติตามแผนร่วมด้วย