แล้งนี้ต้องรอด เปิดแผนบูรณาการแก้น้ำน้อย-ฝนทิ้งช่วงปี 63

แล้งนี้ต้องรอด เปิดแผนบูรณาการแก้น้ำน้อย-ฝนทิ้งช่วงปี 63

"ประวิตร" สั่งกองอำนวยการน้ำฯ เร่งมาตรการแก้แล้งเชิงรุก ครอบคลุม น้ำอุปโภค-บริโภค และเกษตร พร้อมเข้ม 5 มาตรการภาคตะวันออก

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ว่า ได้เร่งรัดการดำเนินงานตามงบประมาณที่แต่ละหน่วยงานได้รับการจัดสรร ให้ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยแล้งได้ทันท่วงที โดยย้ำให้ทุกหน่วยงาน ดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน เร่งดำเนินการในเชิงรุกเพื่อป้องกันบรรเทาความเดือดร้อน และควบคุมสถานการณ์น้ำแล้ง ไม่ให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ทั้งนี้ ได้ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) ระดับพื้นที่โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก แม่ทัพภาคที่ 3 และความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก กับ ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน

พร้อมสั่งการ ให้เพิ่มการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพิ่มเติมจากแผนเดิมอีก 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงเดือนมิ.ย. จากเดิมที่มีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองแล้ว 500 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันปัญหาน้ำทะเลรุกตัวเข้ามายังแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมอบหมายให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการประปานครหลวง(กปน.) ควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบ รวมถึงป้องกันและเฝ้าระวังการสูญเสียน้ำระหว่างการผันน้ำจากลุ่มแม่กลองมายังลุ่มเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดด้วย

นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จากการประเมินสถานการณ์ของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ พบว่า มีอ่างเก็บน้ำจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างบางพระ จ.ชลบุรี ที่หากไม่มีมาตรการบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนอาจส่งให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอถึงสิ้นเดือนมิ.ย.ได้

โดยสั่งให้ดำเนิน 5 มาตรการหลักพร้อมมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนในการป้องกันก่อนปัญหาขาดแคลนน้ำจะเกิดขึ้น คือ 1. มอบหมายการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์วอเตอร์ และ นิคมอุตสาหกรรมปรับลดการใช้น้ำ 10%

2. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดปริมาณการใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมลดลงในภาคตะวันออก 3. กรมชลประทานประสาน กปภ. และ อีสท์วอเตอร์ จัดหาแหล่งน้ำสำรองจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้ถึงสิ้นสุดเดือนมิ.ย. 4. ให้กรมชลประทานพิจารณาผันแหล่งน้ำจากข้างเคียงมาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และ 5. ให้ กปภ.เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานที่ได้รับจัดสรรงบกลางแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ในส่วนของการดำเนินงานโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2562/63 (งบกลาง) จำนวน 2,041 โครงการ ได้ย้ำหน่วยงานเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วให้เร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย เช่นการขุดเจาะบ่อบาดาล จัดหาแหล่งน้ำผิวดิน ซ่อมแซมระบบประปา เป็นต้น พร้อมทั้งรายงานความก้าวหน้า แผนการใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับในทุกโครงการให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติรับทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไปด้วย

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนปี 2563ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการจัดทำแผนงาน/โครงการเร่งด่วนตามที่ 10 หน่วยงานส่วนกลาง รวมถึงหน่วยงานส่วนท้องถิ่น 69 จังหวัด นำได้เสนอแผนงาน/โครงการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่าง สทนช.ดำเนินการวิเคราะห์ กลั่นกรอง ตรวจสอบโครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการภายในเดือนก.พ. นี้ 

ทั้งนี้ สทนช. ได้กำหนดจัดงานประชุมชี้แจงและมอบนโยบายการบริหารจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการและเตรียมการเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 ช่วงปลายเดือนก.พ.นี้ โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ แนวทางการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำในฤดูฝน ปี 2563 ควบคู่กันด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธานสทนช.ได้รายงาน โครงการที่เสนอขึ้นมาจากทั่วประเทศเบื้องต้นมีจำนวน 3,284 โครงการวงเงิน 27,850.79 ล้านบาท 

ทั้งหมดจะต้องให้แล้วเสร็จในปี 2563 เบื้องต้นสามารถเก็บน้ำได้ประมาณ 796.28 ล้านลบ.ม. แบ่งเป็นโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 1,135 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 357.29 ล้านลบ.ม. วงเงิน 9,323.54 ล้านบาท 

ภาคตะวันออก จำนวน 196 แห่ง เก็บน้ำได้ 40.96 ล้านลบ.ม. วงเงิน 2,001.61 ล้านบาท ภาคเหนือ จำนวน 917 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 248.30 ล้านลบ.ม. วงเงิน 7,940.42 ล้านนบาท ภาคกลางจำนวน 669 แห่ง เก็บกักน้ำได้ 113.65 ล้านลบ.ม. วงเงิน5,443.97 ล้านบาท และ ภาคใต้ จำนวน 367 แห่ง เก็บกักน้ำได้36.08 ล้านลบ.ม. วงเงิน 3,141.25 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่ท้องถิ่นเสนอขึ้นมา มีจำนวน 8,531 แห่ง วงเงิน 5,351.34 ล้านบาท สามารถเก็บกักน้ำได้จำนวน 102.04 ล้านลบ.ม.แบ่งเป็นโครงการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน5,431แห่ง เก็บกักน้ำได้ 71.57ล้านลบ.ม. วงเงิน 3,444.55 ล้านบาท ภาคตะวันออก จำนวน 536แห่ง เก็บน้ำได้ 5.98ล้านลบ.ม. วงเงิน 345.82ล้านบาท ภาคเหนือ จำนวน 1,483แห่ง เก็บกักน้ำได้ 13.45ล้านลบ.ม. วงเงิน 789.99ล้านบาท ภาคกลางจำนวน 602แห่ง เก็บกักน้ำได้ 5.68ล้านลบ.ม. วงเงิน 375.35ล้านบาท และ ภาคใต้ จำนวน 479แห่ง เก็บกักน้ำได้ 5.34ล้านลบ.ม. วงเงิน 395.61ล้านบาท