สำรวจ ‘ตลาดถุงยาง’ 1,400 ล้าน ใครครอง?

สำรวจ ‘ตลาดถุงยาง’ 1,400 ล้าน ใครครอง?

วาเลนไทน์ 2020 เทศกาลแห่งการมอบความรักให้แก่กัน หลายหน่วยงานอออกมารณรงค์ให้คนไทยรู้จักการใช้ถุงยางอนามัย มาทำความรู้จักธุรกิจนี้กันว่าจะใหญ่และแข็งแกร่งแค่ไหน แบรนด์ใดจะเป็นผู้ครองตลาดนี้

พอถึงเทศกาลวันแห่งความรัก หรือวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เวียนมาทีไร มักจะมีข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขออกมาผ่านสื่อแขนงต่างๆ ฝากไปถึงเหล่าวัยรุ่นไทย เรื่องราวส่วนใหญ่คือ การรณรงค์ให้ใช้ถุงยางอนามัย และหลายคนอาจเคยได้ยินคำคุ้นหูนี้ยืดอกพกถุง

แล้วรู้หรือไม่? ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศไทย มีมูลค่าสูงมากกว่า 1,400 ล้านบาทในปี 2561 และมูลค่าเหล่านี้มาจากการจำหน่ายผ่านช่องทางร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ จำนวนทั้งหมดราวๆ 70 ล้านชิ้น

เห็นตัวเลขคงรู้สึกว่าสูงมาก แต่ตัวเลขนี้ลดลงจากปีก่อนหน้าราวๆ 2.9% ที่มาจาก 4 แบรนด์หลักๆ ได้แก่ ดูเร็กซ์ (Durex), วันทัช (ONETOUCH), โอกาโมโต (Okamoto) และเพลย์บอย (PLAYBOY)

ทำไมตลาดถุงยางอนามัยถึงมีมูลค่าลดลง? แน่นอนว่าหนึ่งในสาเหตุก็คือปริมาณการใช้ที่ลดลงนั่นเอง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากสถิติการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุด พบว่าวัยรุ่นส่วนใหญ่มองว่าการเดินเข้าไปซื้อถุงยางอนามัยในร้านสะดวกซื้อเป็นเรื่องน่าอาย แม้จะมีความรู้และเข้าใจถึงการใช้ถุงยางอนามัย รวมถึงทัศนคติของของผู้ใหญ่ที่พยายามจะบิดบังธรรมชาติของวัยรุ่น เช่น การไม่อนุญาตให้มีแฟน หรือมีความรัก และบางครั้งยังติดช่องโหว่เรื่องเพศเป็นสิ่งน่าอาย

ขณะเดียวกันยังเกิดกระแสวิพากษ์จากฝั่งของคนที่คิดว่า การแจกถุงยางอนามัยในโรงเรียนเป็นการกระตุ้นให้เด็กวัยรุ่นสนใจในเรื่องเพศสัมพันธ์มากขึ้นหรือไม่ แต่ฝั่งมองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการป้องกันตั้งแต่ต้นเหตุที่แท้จริง ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาท้องก่อนวัยอันควรแล้วมาแก้ไขทีหลัง

158168071914

ขอเริ่มต้นที่ "เจ้าตลาด"​ ซึ่งหากใครเดินเข้าร้านสะดวกซื้อ ก็คงจะคุ้นตากันอยู่บ้างกับแบรนด์ Durex ภายใต้การดูแลของ บริษัท ลอนดอน รับเบอร์ จำกัด หรือ LRC จากฟากอังกฤษ นับอายุอานามจนถึงตอนนี้ก็ร่วมๆ 90 ปีแล้ว โดยตลาดในประเทศก็มีการนำเข้ามา และครองแชมป์ในตลาดไทย กว่า 49.4% เรียกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของตลาดทั้งหมดไปแล้ว

ส่วนอันดับ 2 แบรนด์ วันทัช (ONETOUCH) ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทคนไทยนี่เอง บริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) ครองตลาดไทยกว่า 27.1% ถือว่าไม่น้อยเลย และการเติบโตยังทำให้บริษัทที่มีอายุราว 27 ปี มีโรงงานผลิตถึง 2 แห่ง สามารถผลิตถุงยางได้มากถึง 1,900 ล้านชิ้นต่อปี นับว่าเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของไทย

ส่วนอันดับ 3 ที่ข้ามมา เป็นของแบรนด์โอกาโมโต (Okamoto) ถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้บริษัท ฮายาชิ โปรดักส์ จำกัด แม้ในต่างประเทศจะมียอดขายสูงที่สุด แต่พอมาถึงไทยได้ยังได้ส่วนแบ่งการตลาดเพียง 11.7% นอกจากนี้ในตลาดยังมีแบรนด์อื่นๆ ที่เข้ามาชิงในสมรภูมินี้อีกราว 5% หากนับรวมๆ ทั้งหมดในไทยน่าจะมีแบรนด์ถุงยางอนามัยกว่า 30 แบรนด์ได้

และอันดับ 4 คือ เพลย์บอย (PLAYBOY) ก็เป็นของบริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เช่นกัน โดยครองส่วนแบ่งการตลาดราว 6.5% 

เมื่อลองไปสำรวจในตลาดพบว่า ราคาถุงยางอนามัยราคาตั้งแต่ 50 บาทต่อกล่อง 3 ชิ้น ไปจนถึงหลักร้อยบาทต่อกล่อง และยังแตกแขนงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้ามาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกัน รวมถึงยังออกผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น เจลหล่อลื่น เป็นต้น 

แม้ถุงยางอนามัยจะผลิตมากในไทย แต่ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ จากสถิติในปี 2559 ไทยส่งออกมากที่สุดในโลก มีมูลค่าเกินกว่า 4,800 ล้านบาท แทรกหน้าจีนและมาเลเซียไปค่อนข้างไกล เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย ขณะเดียวกันก็ยังมีการนำเข้าด้วยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น สเปน และมาเลเซีย

ที่มา : issuurubber.oie.go.thbangkokbiznews