เจาะคัมภีร์ 'คนหาของ' 'ปุณยวีร์ จันทรขจร'

เจาะคัมภีร์ 'คนหาของ' 'ปุณยวีร์ จันทรขจร'

เมื่อการลงทุนไม่ได้ 'ถูกจำกัด' แค่ 'เก็งกำไร' ในตลาดหุ้น ! 'เป๊ก-ปุณยวีร์ จันทรขจร' ไม่ใช่เป็นแค่ Investors แต่กำลังก้าวสู่บทบาท 'คนหาของ' ที่มีส่วนต่างราคาทั่วโลกซื้อขาย เติมพอร์ตตัวเอง & ธุรกิจใหม่ ด้านสินทรัพย์ 'ดาวเด่น' ปี 2563 ยกให้ 'ทองคำ'

'ได้เวลาปรับเปลี่ยนวิธีสร้างเงิน !'

โอกาสการลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก ! ไม่ได้ 'ถูกจำกัด' ไว้เพียงตลาดหุ้นเฉกเช่นเดิมแล้ว เซียนหุ้นรายใหญ่ที่เคยหลงใหลในตลาดหลักทรัพย์ นิกเกอิ (Nikkei) ประเทศญี่ปุ่น และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) 'เป๊ก-ปุณยวีร์ จันทรขจร' ปรับเส้นทางการลงทุนครั้งใหม่ที่ผันตัวเองสู่ 'บทบาทใหม่' ที่ให้คำนิยามว่าเป็น 'คนหาของ' ทั้งพอร์ตตัวเอง และ พอร์ตธุรกิจ (รับปรึกษาและบริหารลงทุนให้กับเศรษฐีเงินหนา !)     

ผลตอบแทนการลงทุนปีละไม่ต่ำกว่า 5% คือเป้าหมายพอร์ตลงทุนของเขา ก่อนจะประสบความสำเร็จใช้เวลานานหลายปีในการแสวงหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะกับจริตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นแนว Value Investment 

'บุรุษอารมณ์ดี' เป็นพี่ชายคนโต มีน้องสาว 1 คน ชีวิตเด็กๆ ค่อนข้างสบายมีเงินใช้ตลอด คุณปู่รับราชการตำรวจ คุณอาเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายให้กับคนดังในแวดวงการเมือง ตอนเด็กน้อยไม่เคยอยากรู้ว่าครอบครัวทำธุรกิจอะไรถึงได้มีเงินให้ลูกหลานใช้ไม่ขาดมือ แถมยังพาไปต่างประเทศ ต่างจังหวัดบ่อยมากๆ

ก่อนจะมีโอกาสไปสอบชิงทุนปริญญาโท มหาวิทยาลัย Tsukuba ประเทศญี่ปุ่น หลังเรียนจบก็ไปทำงานเป็นไกด์ 8-9 เดือน ก่อนจะเดินทางกลับมาเมืองไทย จากนั้นก็ไปสมัครงานในธนาคารกสิกรไทย ตำแหน่งช่วยเหลือคนญี่ปุ่นที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย สอบสัมภาษณ์ผ่านแล้วด้วย แต่บังเอิญมาเจองาน “ดีเจ-ครีเอทีฟ” ในคลื่น 93.75 สถานีนี้เน้นเปิดแต่เพลงญี่ปุ่น หน้าที่หลักๆ คือ วิเคราะห์ข่าวจากญี่ปุ่นเป็นไทย จากไทยเป็นญี่ปุ่น และอื่นๆอีกมากมายสนุกดี ชอบๆ 

'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' มีโอกาสนัดเจอ 'เป๊ก-ปุณยวีร์ จันทรขจร' นักลงทุน และ อีกหนึ่งบทบาทของนักเขียนที่ตลอดทั้งปี 2562 ออกหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนไปทั้งหมด 5 เล่ม ในวันที่ทั่วโลกกำลังตกอยู่ใน 'ความกังวล' (Panic) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก 'ร่วง' ร้านชาสไตล์ญี่ปุ่น ย่านพระราม 9 คือสถานที่นัดเจอ ที่ผ่านมาพอร์ตลงทุนมีวิวัฒนาการที่ดีตามลำดับ 'หนุ่มเป๊ก' เกริ่นนำเรื่องการลงทุน

ทุกวันนี้ ! ลงทุน 'สินทรัพย์' (Asset) ที่เห็น 'ส่วนต่างของราคา' จะรีบเข้าไป 'เก็งกำไร' ทันที ไม่ว่าจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เช่น โลหะเงิน ทองคำ อัญมณี พลังงาน (น้ำมัน) และการผลิต เป็นต้น หรือแม้แต่ ค่าเงิน และบิทคอยก็ขอเข้าไปแจมด้วย ดังนั้น การลงทุนในปัจจุบันเปรียบเหมือนเป็น 'Macro Trader' (ผู้ซื้อขาย) นั่นคือ การดูภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคเป็นหลัก และนำมาเซ็ทตรีม (รูปแบบ) การลงทุนในแต่ละปี...   

ถามถึงรูปแบบการลงทุน 'หนุ่มเป๊ก' เล่าว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ลงทุน 'ส่วนตัว & ธุรกิจ' ด้วยกลยุทธ์ที่ใช้ 'ตีราคา' กับ 'หาของ' เพื่อแสวงหาของ (สินทรัพย์) ที่มี 'ส่วนต่างราคา' ทั่วโลกมาซื้อขาย ซึ่งในปี 2563 สินทรัพย์ที่คาดว่าจะเป็น 'ดาวเด่น' คงต้องยกให้ 'ทองคำ !' มากสุด 

สะท้อนภาพตั้งแต่ปี 2562 ทิศทางราคาทองคำเป็น 'ขาขึ้น' มาต่อเนื่อง ปัจจัยบวกโดดเด่นมาจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน (Trade War) ซึ่งตลาดมองว่าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ ส่งผลให้สหรัฐฯ จะต้องดำเนินนโยบาย 'ลดดอกเบี้ย' นั่นหมายความว่าเป็นสัญญาณสำคัญจังหวะของคนที่จะซื้อทองคำ บ่งชี้ผ่านทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ชื่นชอบภาวการณ์ที่ดอกเบี้ยต่ำทั่วโลก รวมทั้งภาวะเงินเฟ้อ  

'ฉะนั้น จุดที่มองว่าจังหวะไหนควรที่จะต้องซื้อทองคำ ต้องจำไว้เลยเมื่อใดก็ตามที่มีสัญญาณการณ์ลดดอกเบี้ย หรือ การหยุดขึ้นดอกเบี้ย ของธนาคารกลางทั่วโลก นั้นคือสัญญาณบวกมากๆ ของทองคำแล้ว'

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งของทองคำ ก็คือ 'สกุลเงินดอลลาร์' เพราะว่าการถือเงินสด (ดอลลาร์) ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา แต่การถือทองคำต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ฉะนั้น นักลงทุนทั่วไปจะเลือกลงทุนในเงินสดมากกว่าในสถานการณ์ปกติ ประกอบตอนนี้ทุกคนมองว่า ดอลลาร์สหรัฐเป็น 'สินทรัพย์ปลอดภัย หรือ Safe Haven' อีกด้วย 

ทว่า สินทรัพย์ประเภททองคำจะชนะเงินสด (ดอลลาร์) ได้นั้น ตลาดต้องเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ เพราะว่าเงินเฟ้อจะกัดกินค่าเงินมีมูลค่าลดลงตามเวลา และเมื่อนั้นทองคำจะสามารถเอาชนะเงินสด (ดอลลาร์) ได้  อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณเงินเฟ้อ ทั้งๆ ที่ควรจะเกิดภาวะเงินเฟ้อแล้ว 'หนุ่มเป๊ก' ไขความสงสัยให้ฟังว่า เพราะว่าธนาคารกลาง (เฟด) ยังพิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก ตลาดมีสภาพคล่องสูงทำให้ยังไม่เห็นภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้น และที่สำคัญตราบใดที่ยังพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาแล้วในตลาดยังมีความต้องการดอลลาร์ (ดีมานด์) แม้ดอกเบี้ยจะต่ำแต่ก็ถือว่ายังมีผลตอบแทนกลับมาก็จะยังไม่เห็นเงินเฟ้อ แต่ว่าเมื่อใดก็ตามสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายดอกเบี้ย 'ติดลบ' นี่จะเป็นจุดพลิกของเศรษฐกิจโลก เพราะตอนนั้นไม่มีความจำเป็นต้องถือดอลลาร์แล้ว  

'เชื่อว่าวันนี้เครื่องมือในการแก้ปัญหาของเฟดน้อยลงแล้ว เพราะดอกเบี้ยต่ำมาก ดังนั้น ทางแก้ปัญหาทางเดียวคือการพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ และยิ่งเฟดพิมพ์เงินออกมามากความเชื่อมั่นก็จะลดน้อยลงไปเช่นกัน' 

สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนพอร์ตตัวเอง แบ่งเป็นถือเงินสด 50% และ ทยอยซื้อทองคำสะสม 25-30% จากเดิมในพอร์ตไม่มีทองคำ โดยตนเองเริ่มทยอยซื้อทองเก็บมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่ง 'ผลตอบแทน' (รีเทิร์น) ปีที่แล้วเป็น 'บวก' เพราะมีทองคำในพอร์ต เพราะว่าตลาดหุ้นไทย 'ซึมมาก' ใครมีหุ้นในพอร์ตอย่างเดียวพอร์ตมีผลตอบแทน 'เท่าตลาด' ส่วนเงินสดเก็บไว้เพื่อรอโอกาสหากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตลาดจะปรับตัวลงมามาก และเป็นโอกาสที่จะซื้อของในราคาที่ถูกมาก 

'ปีก่อนหากไม่ได้ทองคำพอร์ตลงทุนรีเทิร์นเท่าตลาด สังเกตได้จากหุ้นไทยมี 700 กว่าตัว แต่เคลื่อนไหวจริงๆ ไม่ถึง 50 ตัว และหุ้นที่อยู่ในเทรนด์ขึ้นไม่ถึง 20 ตัว นั้นหมายความว่าถ้าเราไม่ได้ลงทุนในหุ้นที่อยู่ในเทรนด์ไม่มีทางที่พอร์ตจะชนะตลาด'

ขณะที่ สัดส่วนพอร์ตลงทุนมีหุ้นน้อยมาก อย่าง 'หุ้นญี่ปุ่น' ขายทิ้งไปได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะส่วนตัวมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นคงไปได้ไกล 'ยาก' เพราะว่าปัจจุบันโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น 'แย่มาก' (คนแก่เยอะ) ซึ่งก็จะสัมพันธ์กับตลาดหุ้นตรงที่เมื่อประชากรในประเทศมีสัดส่วนคนแก่มาก ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ดังนั้น จะส่งผลมาที่รายได้-กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะมีกำไรลดลง และเมื่อกำไรลดลงก็จะถูกดาวน์เกรดลงมา ซึ่งก็จะทำให้ตลาดหุ้นเทรดด้วย P/E สูงไม่ได้ 

แต่ประเทศญี่ปุ่นจะมีปัจจัยบวกในปี 2020 คือ 'เจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก' ฉะนั้น อาจจะมีสตอรี่ดันตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ แต่มองว่าตลาดอาจจะไปได้ไม่ไกลมาก ซึ่งเมื่อเรามองแบบนี้ก็เป็นลักษณะการเก็งกำไรไม่ใช่นักลงทุนแล้ว สำหรับการลงทุนความเข้าใจในภาพใหญ่ (มหภาค) เป็นเรื่องขาดไม่ได้เลย เพราะปัจจุบันโลกเชื่อมโยงกันไปหมดแล้ว

อีกทั้ง 'โอกาส' ในการลงทุนมีอยู่ทุกที่ ดังนั้น การลงทุนมีอยู่ทุกที่ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นดังเดิม  ทว่าทั้ง ตลาดหุ้น , อสังหาริมทรัพย์ แม้แต่ธุรกิจก็ล้วนแต่มีการซื้อขายที่คึกคัก และเกิดส่วนต่างของราคาในการเก็งกำไรมากมาย ทั้งนี้ เงินที่ได้จากการเก็งกำไรในตลาดจะนำไป 'ต่อยอดธุรกิจ' ที่หลากหลายทั้งการขายหนังสือออนไลน์ การทำ Platform สัมมนาออนไลน์ การสร้างทีมวางแผนการเงินและรับบริหาร จนไปถึงการทำ Talk Show ของตัวเอง (เมื่อปีที่แล้วจัดไป 1 ครั้ง)  

และในส่วนของการทำ 'ธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth)' ปัจจุบันมีการบริหารให้กับ 5 ครอบครัว มูลค่ารวม 150 ล้านบาท นอกจากนี้ ขอเป็นที่ปรึกษาด้านการบริการจัดการการลงทุนส่วนบุคคลทั้งในเชิง Passive และ Active แทน

ท้ายสุด 'หนุ่มเป๊ก' บอกไว้ว่า หากเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆ มองเป็น Once in Lifetime Opportunity เหมือนกัน เพราะฉะนั้น แค่ไอเดียและแนวคิดในการลงทุนไม่พอ แต่ต้องมีกระสุนหรือเงินสดมากพอในการรอซื้อของถูกด้วย

'ดอลลาร์' เป็น 'กุญแจ' เฉลย  

'เป๊ก-ปุณยวีร์ จันทรขจร' นักลงทุน และ นักเขียน เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันการลงทุน 'แตกต่าง' จากอดีตมาก เมื่อก่อนโอกาสในการลงทุนมีอยู่มาก ประกอบกับตลาดหุ้นเติบโตมาจากพื้นฐานแท้จริงของเศรษฐกิจโลกที่โตขึ้นตลอด อย่าง การเติบโตของเศรษฐกิจจีนและตลาดหุ้นจีน ไม่เหมือนปัจจุบันที่ตลาดหุ้นโตจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการพิมพ์เงินออกมาเพิ่มสภาพคล่อง  

นั่นแสดงว่าวันนี้ภาพของตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ 'กระทิงลูกโป่ง' แม้ว่าภาพตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นก็ตาม แต่เป็นตลาดขาขึ้นแบบเปราะบางมาก เพราะว่าตลาดขึ้นด้วยสภาพคล่องไม่ได้ขึ้นด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง 

'ตราบใดที่ธนาคารกลางยังพิมพ์เงินเข้ามาเรื่อยๆ ตลาดก็จะยังเป็นตลาดกระทิงลูกโป่ง ซึ่งลูกโป่งจะบวมขึ้นได้ต่อ' 

อย่างไรก็ตาม หากจะให้เติบโตด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงนั้น จะต้องมีประเทศที่มีอัตราการเติบโตเหมือนประเทศจีนในอดีต เพื่อจะเข้ามาเสริมฐานเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้นไปอีก ซึ่งมองว่า 'ยากมาก' ที่จะหาประเทศที่เติบโตเช่นนั้น 'วันนี้ตลาดทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาจากสภาพคล่องไม่ได้ปรับตัวขึ้นมาจากพื้นฐานที่แท้จริงเหมือนช่วง 2014' 

รวมทั้งปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ 'แค่1.5%' เท่านั้น นั้นแสดงว่าช่องว่างในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางแทบจะไม่เหลือแล้ว หากธนาคารกลางไม่สามารถลดดอกเบี้ยได้อีก ช่องทางเดียวที่จะทำได้คือการพิมพ์เงินออกมาเรื่อยๆ เพื่อแก้ไข และหากมองในเชิงดีมานด์ซับพลายของโลก ของอะไรก็ตามที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมูลค่าจะลดลง และสิ่งที่จะตามมาคือเงินเฟ้อ !  

'หนุ่มเป๊ก' บอกต่อว่า ประเด็นสำคัญจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไมอยู่ที่ 'ดอลลาร์' เพราะว่าดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักของโลก แล้วดอกเบี้ยเป็นต้นทุนการเงินของโลก เพราะฉะนั้น หากจะจับตาว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือไมนั้น ให้ดูที่ดอลลาร์ ซึ่งปัญหาจะเกิดได้ใน 2 รูปแบบ คือ 1.ดอลลาร์อ่อนเกินไป และ 2.ดอลลาร์แข็งเกินไป

'ดอลลาร์อ่อน' จะเป็นปัญหามากกว่า และหากดอลลาร์อ่อนค่ามากๆ ตลาดหุ้นจะถูกเทขายทั่วโลก เพราะว่านักลงทุนต้องขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อที่จะต้องดึงเงินคืน ส่วน 'ดอลลาร์แข็ง' ซึ่งเป็นทฤษฎีที่คนไม่ค่อยพูดถึงเพราะว่าส่วนใหญ่จะมองว่าดอลลาร์อ่อนค่ามากกว่า แต่เรามองว่าสภาพการณ์ในปัจจุบันสกุลเงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการมาก ต่อในเฟดพิมพ์เงินออกมามากเท่าไหร่ก็ตามก็เป็นที่ต้องการ  

ประกอบกับ ยุโรป ญี่ปุ่น ดำเนินนโยบาย 'ดอกเบี้ยติดลบ' ถ้าเราเป็น 'ฟันด์เมเนเจอร์' (Fund Manager) ของกองทุนขนาดใหญ่โดยปกติจะต้องลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล แต่ถ้าเขาไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลในประเทศตัวเอง ผลตอบแทนติดลบ ก็ต้องออกไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลของประเทศอื่น และประเทศที่สามารถรองรับเงินลงทุนได้มหาศาลก็มีแค่สหรัฐฯ ต่อให้ดอกเบี้ย 1.5% แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนฉะนั้นต่อให้เฟดพิมพ์เงินเข้ามามากแค่ไหนก็มีดีมานด์มารองรับ ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีดีมานด์ตรงนี้อยู่ดอลลาร์ก็จะไม่อ่อนค่า 

แต่ 'จุดเปลี่ยน' สำคัญหากเฟดดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบเมื่อไหร่นั่นแหละดอลลาร์จะอ่อนค่าทันที เพราะว่าตอนนั้นทุกคนจะต้องเทขายเงินดอลลาร์ออกมา เนื่องจากตอนนั้นไม่มีประโยชน์แล้วที่จะถือพันธบัตรสหรัฐต่อไป ฉะนั้น พันธบัตรสหรัฐจะกระชากขึ้นดอลลาร์ก็จะอ่อนค่าทันที เงินก็จะไหลกลับ 

'จะมีโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูที่ทิศทางของเงินดอลลาร์ซึ่งจะเป็นตัวชี้นำของสถานการณ์'