'คนโสด' ก็รวยได้! เปิดวิธีเก็บเงินล้านไม่ต้องง้อ 'แฟน'

'คนโสด' ก็รวยได้! เปิดวิธีเก็บเงินล้านไม่ต้องง้อ 'แฟน'

สุขสันต์วันโสด ประชดวาเลนไลน์! ด้วยวิธีเก็บเงินสำหรับ "คนโสด" ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตาม สามารถมีเงินหลักล้านไว้ใช้หลังเกษียณได้สบายๆ แบบไม่ต้องง้อ "แฟน"

“โสด” หรือ “ไม่โสด” อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในการใช้ชีวิต ถ้ามีวางแผนชีวิตที่ดี โดยเฉพาะ “แผนทางการเงิน” ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะทำทุกคนสามารถครองชีวิตแสนสุขในวัยเกษียณแบบไม่ต้องลำบากใคร

ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน พบว่าคนไทยทั้งที่โสดและไม่โสด มีเพียง 1 ใน 4 สามารถออมเงินได้ในระดับที่ตั้งใจสำหรับการเกษียณอายุ ในขณะที่ 34% กำลังดำเนินการตามแผนการออมที่ตัวเองวางไว้ และ 41% ยังไม่มีแผนการออมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เกษียณอายุ จะต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่นหรือลูกหลาน

ทั้งยังมีการคำนวณคร่าวๆ ว่า คนโสดต้องมีเงินอย่างต่ำ 4-10 ล้านบาท จึงจะเพียงพอสำหรับการดูแลตัวเองหลังจากหยุดทำงานในวัยเกษียณ ประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ในความเป็นจริงแล้วควรมีเงินสำหรับเลี้ยงดูตัวเองตอนโสดมากแค่ไหน” แล้วปัญหาใหญ่สุดคือ จะเก็บเงินเหล่านั้นได้อย่างไร??

 

  • วางแผนเกษียณให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

คำถามที่ว่า “ต้องมีเงินแค่ไหนถึงจะพอไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ และความพอใจของแต่ละคน สำหรับคนโสดที่อยากมีโหมดไปเที่ยวต่างประเทศคูลๆ ในบั้นปลาย อาจจะต้องใช้เงินมากถึง 10-20 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น ส่วนใครที่อยากมีชีวิตในต่างจังหวัดสบายๆ ชมธรรมชาติ ปลูกผัก เลี้ยงปลาอาจจะใช้เงินไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือน้อยกว่านั้น ก็เป็นไปได้

ใครที่ยังไม่ได้คำตอบให้ตัวเอง ลองคิดด้วยวิธีง่ายๆ ว่าหลังจากเกษียณอายุอยู่คนเดียวโสดๆ “เราอยากใช้เงินเดือนละเท่าไหร่แล้วคำนวณคร่าวๆ

เช่น ตอนนี้อายุ 30 ชีวิตนี้ไม่อยากแต่งงาน ตั้งใจครองตัวเป็นโสดตลอดไป แต่อยากใช้เงินหลังเกษียณเดือนละประมาณ 15,000 บาท ตกปีละ 180,000 บาท ในอีก 25 ปีหลังจากเกษียณอายุ (เสียชีวิตตอนอายุ 85 ปี) ฉะนั้นจำเป็นต้องมีเงินก้อนประมาณ 4,500,000 บาท

“แต่ละคนไม่จำเป็นต้องมีเงินเกษียณเท่ากัน ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต และความต้องการส่วนบุคคล”

 

  • เตรียมตัวยังไงให้มีเงินพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ

ตัวเลขเป้าหมายเงินเกษียณสูงลิบ เมื่อเทียบกับรายได้ที่ดูห่างไกล แถมในอนาคตในอีกหลายสิบปีข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1-3% ต่อปี (อ้างอิงตามเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทย สำหรับระยะปานกลางและสำหรับปี63) เท่ากับว่า เงินจำนวนเท่าเดิมในตอนนี้ จะมีค่าลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งหมายความว่าการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ หยอดกระปุก หรือฝังดินจึงอาจไม่ใช่ทางรอดในการเตรียมเงินไว้บนคาน

ปัญหายิ่งเก็บ เงินยิ่งลดลงเป็นอุปสรรคที่ทุกคนต้องเจอในอนาคต แต่เราต้องไม่หมดหนทาง เพราะมีทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ “เงินก้อนเล็กๆ” สามารถเติบโตใกล้เคียงหรือโตมากกว่าเงินเฟ้อในอนาคต นั่นคือ "การลงทุนแบบ DCA ในกองทุน"

ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ “เงินก้อนเล็กๆ” สามารถเติบโตใกล้เคียงหรือโตมากกว่าเงินเฟ้อในอนาคต นั่นคือ "การลงทุนแบบ DCA ในกองทุน"

 

  • DCA (Dollar-Cost Averaging) ในกองทุน ทางเลือกเตรียมเกษียณ งบน้อยก็เริ่มต้นได้

สาเหตุที่หยิบยกการทำ DCA ในกองทุนขึ้นมาเป็นทางเลือก เนื่องจากเป็นลักษณะการลงทุนที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยเงินหลักร้อยและหลักพัน มีหลายระดับความเสี่ยงตั้งแต่น้อยจนถึงสูง ซึ่งสามารถเลือกความเสี่ยงที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้

กองทุนรวมคืออะไร?

การลงทุนในกองทุน คือการรวบรวมเงินทุนจากนักลงทุนทั่วไป เพื่อรวมเป็นเงินก้อนขนาดใหญ่ แล้วนำเงินที่รวบรวมนั้นไปกระจายลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงเอาไว้ ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุนซึ่งมีหน้าที่ลงทุนแทนเราตามนโยบายของกองทุนที่เราเลือกตามความเสี่ยงที่ตัวเองสามารถรับได้ ซึ่งกองทุนแต่ละกองจะได้ผลตอบแทนแตกต่างกันไปตามความเสี่ยง ประเภทกองทุน และสถานการณ์ตลาด โดยมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตั้งแต่ 2-12% ต่อปี (ผลตอบแทนแต่ละปีจะแตกต่างกัน ตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน สภาวะตลาด และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง)

158165939327

158165939467

การรวบรวมตัวอย่างผลตอบแทนย้อนหลังที่เกิดขึ้นจริงของกองทุนประเภทต่างๆ ในการจัดอันดับ Top Fund Performance เว็บไซต์ WealthMagik พบว่า ผลตอบแทนในการลงทุนย้อนหลัง 10 ปี ของกองทุนที่มีความเสี่ยงต่างกันมีสถิติ ดังนี้

  • ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมตลาดเงิน 37 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 1.32%-1.74%
  • ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลาง 56 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 1.92%-3.15%
  • ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนรวมผสม 68 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 3.31%-12.28%
  • ผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปี จากกองทุนตราสารทุน 207 กองทุน มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 5.69%-12.88%
 

จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนว่า การลงทุนระยะยาว ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากกว่าการออมทรัพย์ธรรมดา

อย่างไรก็ดี การลงทุนในกองทุนรวมมีทั้งข้อดีและความเสี่ยงที่ต้องระวัง  

158165943314

  • ทำไมต้องลงทุนแบบ DCA?

"DCA" (Dollar-Cost Averaging) คือการตั้งระบบลงทุนแบบอัตโนมัติ เป็นงวดๆ งวดละเท่าๆ กัน ทุกเดือนหรือทุกไตรมาส ถ้าราคาหุ้นปรับตัวต่ำลงจะซื้อหน่วยลงทุนได้มากขึ้น และเมื่อราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นจะซื้อหน่วยลงทุนได้น้อยลง ซึ่งการซื้อต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ จะช่วยถัวเฉลี่ยต้นทุนหน่วยลงทุนที่เราซื้อให้เท่าๆ กัน ทำให้ไม่ต้องมาคอยเฝ้าราคาขึ้นๆ ลงๆ ของกองทุน แถมมีผู้จัดการกองทุนช่วยบริหาร ทำให้ไม่ต้องมานั่งเฝ้าตลาดหุ้นด้วยตัวเอง

ข้อดีของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

  • ช่วยตัดอารมณ์ความรู้สึกในการตัดสินใจลงทุนออกไป
  • ลดความเครียด
  • ไม่จำเป็นต้องมีเงินก้อนใหญ่
  • ทำให้มีวินัยในการลงทุน ไม่หลงไปกับความผันผวนของตลาดในระยะสั้น ๆ

ข้อด้อยของการลงทุนในกองทุนแบบ DCA

  • มีความเสี่ยงตามประเภทของกองทุน
  • ใช้ระยะเวลาการลงทุนยาว 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปรากฏสถิติที่น่าสนใจว่า การลงทุนระยะยาวด้วยวิธีการแบบ DCA ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการลงทุนแบบจับจังหวะ หรือเก็งกำไร แถมสามารถเริ่มต้นได้จากเงินจำนวนน้อยๆ ด้วย (เริ่มต้นได้ตั้งแต่ 500 บาท ตามนโยบายแต่ละกองทุน)

ตัวอย่างการลงทุนในกองทุน แบบ DCA        

นางสาว A อายุ 20 ปี เตรียมเปย์ตัวเองในบั้นปลายชีวิต โดยหักเงิน 20% ของเงินเดือน 15,000 บาท เป็นเงิน 3,000 บาท มาลงทุนในกองทุนทุกๆ วันที่...X...ของเดือน อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลาเป็นระยะเวลา 40 ปีจนเกษียณ (อายุ 60 ปี) จะมีโอกาสได้เงินก้อนสำหรับใช้ในช่วงเกษียณ ดังตารางต่อไปนี้  

158165946987

158165947040

158165947015

158165947186


สำหรับผู้ที่สนใจจะลองคำนวณการสะสมเงินเกษียณแบบ DCA สามารถทำได้ที่ โปรแกรมคำนวณเงินฝากของ ศคง. 

  • พลังดอกเบี้ยทบต้น

สาเหตุที่วิธีลงทุนแบบ “DCA ในกองทุนเติบโตขึ้นจนไปถึงเป้าหมายได้ คือพลังแฝงที่เรียกว่า ดอกเบี้ยทบต้นที่จะทำให้ดอกเบี้ยในแต่ละปีในระยะยาว รวมกับเงินต้นที่มีอยู่เดิมกลายเป็นเงินต้นก้อนใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไป เงินต้นก้อนใหม่จะถูกพอกด้วยดอกเบี้ยที่ได้รับของปีถัดไปเรื่อยๆ ทำให้ผลลัพธ์ในตอนท้ายกลายเป็นก้อนใหญ่หลักหลายล้านได้

158165952510

ทว่า กฎเหล็กของการเก็บเงินแบบ DCA คือ “วินัย” ที่ต้องลงทุนสม่ำเสมอ และ “ความอดทน” ที่จะต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคโหดหินที่ทำให้หลายคนที่แม้จะคำนวณเก่ง วางแผนดี แต่พอถึงเวลาลงมือทำ ก็ถอนตัวตั้งแต่ยังไม่พ้นปีแรก

สังเกตได้ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนเท่ากัน ยิ่งมีจำนวนปีในการลงทุนนาน การลงทุนที่ใช้ระยะยาวนานกว่าจะให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่ามาก ซึ่งเป็นข้อยืนยันประโยคที่ว่า “ออมก่อน รวยกว่า

ใครที่แข็งใจเริ่มต้นเก็บเงินไม่ได้สักที ลองใช้สูตร
"เงินที่ไม่เห็น คือเงินที่ไม่ได้ใช้" 
หักเงินส่วนที่ต้องการเก็บหรือเงินที่จะลงทุนทันทีที่เงินออก
"เงินเดือน - เงินเก็บ = เงินสำหรับใช้จ่าย"

ความเป็นจริงแล้ว วิธีการลงทุนสม่ำเสมอแบบนี้สามารถทำได้ทุกคน ทั้งรู้ตัวว่าจะโสด เพิ่งโสด หรือแม้แต่คนไม่โสดก็จงเตรียมตัวเป็นโสดอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ว่าจะมีหรือไม่มีคู่ เราก็มี “เงินซับพอร์ตชีวิตเราอยู่แบบไม่ลำบาก แต่ถ้าพรหมลิขิตเหวี่ยงคู่มาให้เราก็ถือว่าเงินส่วนนี้เป็นส่วนตัวเผื่อฉุกเฉินได้แบบสบายๆ

นอกจากหลักในการเก็บเงินก้อนใหญ่ด้วยการลงทุนแบบ DCA แล้ว ยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ควรทำควบคู่กันให้เป็นนิสัย ที่ช่วยส่งเสริมให้สามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น

158165959630

“ทำรายรับ-รายจ่าย” ยังคงเป็นวิธีการบริหารเงินสุดคลาสสิกที่ได้ผล และมีประโยชน์มากว่าเราเสียเงินไปกับอะไรบ้าง หลายคนจินตนาการการทำรายรับ รายจ่าย ต้องตีตารางใส่สมุดหรือนั่งจดให้เสียเวลา แต่ความเป็นจริงสามารถทำง่ายๆ จดในโทรศัพท์มือถือ หรือทำผ่านแอพพลิเคชันทำรายรับรายจ่ายที่ให้บริการได้ เช่น Money Lover: Expense Tracker, Weple Money เป็นต้น

“ไม่สร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น” การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าไม่สามารถบริหารจัดการหนี้ และการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้สอดคล้องกันได้ความพินาศจะมาเยือน พยายามควบคุมไม่ให้มีหนี้เกิน 20-30% ของเงินเดือน และหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้ที่ไม่จำเป็น อย่างที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว เพราะหากยังมีหนี้หลังเกษียณ คุณอาจจะต้องทำงานเพื่อหาเงินใช้หนี้ไปตลอดชีวิต สวนทางกับสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ ก็เป็นได้

158165961729

“ฟุ่มเฟือยได้ แต่อยู่ในกรอบ” คนโสดหลายคนเลือกที่จะใช้เงินปรนเปรอความสุขของตัวเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน แต่หลายคนพังเพราะใช้เงินแบบพอดีตัว เดือนชนเดือนจนไม่เหลือเผื่อตัวเองในอนาคต

ทางที่ดีที่สุดคือ การสร้างกรอบในการฟุ่มเฟือยให้กับตัวเองแบบพอเหมาะเช่น หักออกมาใช้ส่วนนี้ไม่เกิน 10% ของเงินเดือน เพื่อควบคุมการใช้เงินตัวเองแบบหลวมๆ ช่วยให้บริหารจัดการการออมได้ง่ายขึ้น

“ความเสี่ยง” ที่ใหญ่หลวงที่สุด คือ “การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย”

“ใส่ใจสุขภาพ” มีเงินเท่าไหร่ก็ไม่พอซื้อสุขภาพที่ดีกลับมา เรื่องสุขภาพจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องโฟกัส และเจียดเงินมาดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการสร้างคานทองที่แข็งแรง หมั่นดูแลสุขภาพ บริหารจัดการเวลาในการทำงานมาดูแลตัวเองเพื่อให้สุขภาพทางการเงิน และสุขภาพทางกายแข็งแรงไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจครองโสดไปตลอดชีวิต ไม่เจอคนที่ถูกใจสักที หรือมีชีวิตคู่แล้วก็ตาม วิธีการสะสมเงินแบบนี้ก็ใช้ได้ทั้งนั้น เพราะวิธีการทั้งหมดทั้งมวลนี้คือการวางแผนเกษียณรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ “ควรทำ” ก่อนที่มันจะสายเกินไป

เพราะ “ความเสี่ยง” ที่ใหญ่หลวงที่สุดคือ “การไม่ยอมเสี่ยงอะไรเลย” (Mark Zuckerberg) ดังนั้น ลองหาโอกาสศึกษาข้อมูลรับความเสี่ยงที่เหมาะกับตัวเอง เปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น

ที่สำคัญที่สุด ก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าลืมศึกษาข้อมูลให้เข้าใจก่อนที่จะลงทุน เพราะไม่ว่าจะเป็น 'การลงทุนในกองทุน หุ้น' หรือ 'ความรัก' ก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น 

อ้างอิง: WealthMagik ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย