จุฬาฯ พัฒนาเซ็นเซอร์วัด PM 2.5 นำร่องติดตั้ง 30 จุด ทั่ว กทม.

จุฬาฯ พัฒนาเซ็นเซอร์วัด PM 2.5  นำร่องติดตั้ง 30 จุด ทั่ว กทม.

จากปัญหาปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาต่อเนื่อง คณะวิศวะฯ จุฬาฯ จึงได้ทำการพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นที่สามารถวัดได้ทั้ง PM 2.5 และ PM 10 โดยติดตั้งเบื้องต้น 16 เครื่องภายใน และในปีนี้นำร่องติดตั้งเพิ่ม 30 จุดทั่วกทม. และปริมณฑล

ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานแถลงข่าวกิจกรรม “Sensor for All ปีที่ 2” ภายใต้โครงการ Industrial Liaison Program คณะวิศวกรรมศาสตร์ ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัญหามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และมีแนวโน้มอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงได้จัดตั้งคณะทำงานที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ที่เริ่มดำเนินการแล้วในปีที่ผ่านมา และมีประสิทธิภาพในการตรวจวัดสภาพอากาศและจัดเก็บข้อมูลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการศึกษาวิจัยเพื่อหาต้นตอสาเหตุปัญหา

158161302372

“โครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศ นำมาใช้ประโยชน์ด้านการวิจัย ผนึกพลังพันธมิตรเพิ่มพื้นที่การติดตั้งเซนเซอร์เพิ่มศักยภาพโครงการ วิเคราะห์ถึงผลกระทบ เสนอแนะแนวทางแก้ไข และพร้อมที่จะส่งมอบองค์ความรู้ต่างๆ แก่ภาครัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนากลยุทธ์แก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องการนำองค์ความรู้ที่ได้มามอบให้แก่คนไทยเพื่อนำประโยชน์ดังกล่าวไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ อีกด้วย” ศ. ดร.สุพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนด้านโครงข่าย จาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) มีการติดตั้งเซ็นเซอร์ทั้งหมด 16 จุด บริเวณพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการแสดงผลข้อมูลเซ็นเซอร์ผ่านหน้าเว็บไซต์ เพื่อเก็บข้อมูลและขยายผล

158161302386

  • ต่อยอดปี 2 พัฒนาการทำงานเซ็นเซอร์

ดร.กริชชาติ ว่องไวลิขิต หัวหน้านักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า จากกระแสฝุ่นในปีที่ผ่านมา จุดประกายให้ทำเพื่อสังคมบริเวณรอบจุฬาฯ เป็นที่มาของการคิดค้นเซ็นเซอร์วัดฝุ่นละอองในปีแรก ซึ่งได้ติดตั้ง 16 จุดทั่วมหาวิทยาลัย สำหรับการต่อยอดโครงการในปีที่ 2 นี้ มีการขยายความร่วมมือกับหลายภาคส่วนการเคหะแห่งชาติ, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม, สภาวิศวกร, บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อขยายการจัดเก็บข้อมูลสภาพอากาศให้ขยายวงกว้างยิ่งขึ้น สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่คนไทย เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงได้ง่าย แบบไร้ขีดจำกัด

158161302311

“เซ็นเซอร์ที่พัฒนาล่าสุด มีการพัฒนาทั้งหน้าตาของเซ็นเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM2.5 ให้มีขนาดเล็กลง และให้มีหน้าจอแจ้งผลแบบเรียลไทม์ ถัดมาคือ การเข้าถึงข้อมูลซึ่งปีก่อนเข้าถึงข้อมูลยาก ดังนั้น ปีนี้จึงพยายามเขียนเว็บไซต์ใหม่ เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สามารถตรวจวัดได้ทั้งฝุ่น PM 2.5, PM 10, อุณหภูมิ และความชื้น พร้อมทั้งคำนวณค่า AQI และแสดงผลผ่านทั้งหน้าจอเซนเซอร์และเว็บไซต์ www.sensorforall.eng.chula.ac.th เพื่อบ่งบอกระดับผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงตั้งเป้าพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่อไปในอนาคตอีกด้วย”

สำหรับตัวเซ็นเซอร์จะใช้เสียบไฟเพื่อไม่ต้องคอยเปลี่ยนแบตเตอรี่เรื่อยๆ มีตัวดูดอากาศเข้าไป และยิงแสงเพื่อนับจำนวนฝุ่น คำนวณออกมาเป็นค่า จะสามารถรู้ผลคร่าวๆ ได้ โดยองค์ประกอบข้างใน คือ หน้าจอแสดงผล เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ และเซ็นเซอร์ ส่งข้อมูลไปยังหน้าจอแสดงผล และหน้าเว็บไซต์ออนไลน์ โดยต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราว 5000 – 8,000 บาท

  • นำร่องติดตั้ง 30 จุดทั่วกทม.

จะมีการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลในระยะแรกจำนวน 30 จุด ภายในสัปดาห์หน้า ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 จุด และอีก 29 เครื่อง กระจายติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งการเคหะแห่งชาติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และสภาวิศวกร

158161302582

“จุดที่ไปติดเบื้องต้นเริ่มต้นบริเวณที่มีคนอยู่อาศัย เพราะน่าจะเป็นพื้นที่ๆ ส่งผลกระทบกับคนมากที่สุด จะดีต่อประชาชน และจุดที่ติดเพื่อการวิจัย เช่น พื้นที่สีเขียว เพื่อเปรียบเทียบในสวนกับนอกสวน เป็นการทำการวิจัยและพัฒนาเรื่อยๆ ซึ่งอนาคตอาจจะต้องพัฒนาให้มากกว่านี้ เช่น มีตัวกล่องที่ดีกว่านี้ มีข้อมูลที่ดีกว่านี้ และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีกว่านี้ เพื่อให้ได้ดาต้ามาวิเคราะห์ ที่มาต้นตอของฝุ่น และผลกระทบทั้งจากการเผา การจราจร หรืออื่นๆ” ดร.กริชชาติ กล่าว

ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า นอกจากนี้ การพัฒนาในอนาคต ยังมองไปถึงการพัฒนาความสามารถในการตรวจวัดปริมาณแก๊สอื่นๆ ได้ รวมทั้งในสถานีบริการน้ำมัน และโรงงานอุตสาหกรรม ตอบโจทย์ปัญหามลพิษ ทางอากาศทุกเรื่อง และทำดาต้า เอาข้อมูลที่มีอยู่มาวิเคราะห์ และพยายามขยายเครือข่ายให้เพิ่มขึ้น คาดว่าปีหน้าจะมีการขยายจุดติดตั้งเพิ่มเติมราว 100 จุด

158161302693

ณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ มุ่งมั่นเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ของประชาชนชุมชนที่สร้างขึ้น 700 กว่าแห่ง มีตลาดชุมชนที่มาเช่าที่ 90 กว่าแห่ง รวมประชากรที่อาศัยล้านกว่าคน ไม่รวมประชากรแฝง ทำให้คุณภาพชีวิตชาวเคหะขุมชนดีขึ้น นวัตกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเข้ามาช่วย การได้รับเซ็นเซอร์วัดปริมาณ PM2.5 ทำให้ทุกคนเข้าถึงนวัตกรรม และทำให้คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น

158161302490

ด้าน ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บริษัท ทรู คอร์ปเอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนเครือข่ายสำหรับส่งข้อมูลเซ็นเซอร์ตรวจวัด กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาคการศึกษา หรือการผลักดันองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อออกไปสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมยังอยู่ในวงจำกัด เพราะฉะนั้น โครงการ Sensor for All จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมมือทั้งภาคมหาวิทยาลัยที่นำองค์ความรู้ รวมถึงภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีเข้ามา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคม ดังนั้น การทำบิ๊กดาต้า เพื่อวางแผนว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มทรู มีความยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องเพื่อขยายผลกระทบเชิงบวกต่อไปในอนาคต