ยังไม่คืบ “ปรับโครงสร้างศธ.” สพฐ.เพิ่ม สพม. ตามความเหมาะสม

ยังไม่คืบ “ปรับโครงสร้างศธ.” สพฐ.เพิ่ม สพม. ตามความเหมาะสม

แม้จะผ่านมากว่า 3 เดือน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน สำหรับ “การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)” ภายใต้การนำของ ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)

ด้วยเหตุที่ว่าภาระงานของคณะกรรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่ (สพท.) ในบางเรื่องอาจมีความซับซ้อนกัน และเมื่อมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเกิดขึ้นภายในจังหวัดอาจไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบหรือแก้ปัญหา พร้อมทั้งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงสร้าง ศธ. ซึ่งมี วราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษา รมว.ศธ.เป็นประธาน

ว่ากันว่า ผลการประชุมครั้งล่าสุด ได้ข้อสรุปว่าไม่มีงานใดของกศจ. และสำนักงานเขตพื้นที่ สพท.ทับซ้อนกัน ส่วนกลุ่มงานสีเทาหรืองานที่ถูกมองว่าอาจจะมีความซ้ำซ้อนกัน ไม่สามารถแบ่งกันได้อย่างชัดเจนนั้น เมื่อพิจารณาจากเนื้องานและการวิเคราะห์ร่วมกันทั้ง กศจ.และสพท. พบว่า ไม่มีกลุ่มงานสีเทาที่ไม่สามารถแบ่งงานกันได้ ทั้ง 2 หน่วยงานในพื้นที่สามารถบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาได้อย่างเต็มที่ โดยเนื้องานใดที่เกี่ยวข้องกับกศจ.ก็ให้ กศจ.ดำเนินการ และหากงานใดเป็นหน้าที่ของ สพท.ก็ให้สพท.ดำเนินการ ดังนั้น จึงถือว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้ไม่มีเรื่องใดที่ไม่ลงตัว

ส่วนเรื่องของบทบาทการทำงานของศึกษานิเทศก์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาในเรื่องของร้องเรียนจากกลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาแต่งดำไม่ขอย้าย ขอโอนไปไหนทั้งสิ้น “ณัฎฐพล” กล่าวว่าอยากให้มีการรวมศึกษานิเทศก์ของหน่วยงานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะมีความเข้าใจในเรื่องนี้ เพราะเป็นการปรับที่ไม่ได้กระทบอะไร และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจของใครด้วย แต่เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน

มาถึงการแต่งตั้งโยกย้ายที่ดูท่าจะเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาออกมาคัดค้านนั้น 

ประธานคณะกรรมการโครงสร้าง ศธ.อธิบายว่า การโยกย้ายจะให้พิจารณาในภาพรวมระดับจังหวัด อาทิ จังหวัดที่มีเขตพื้นที่ 8 เขต ก็ให้พิจารณาโยกย้ายครู ผู้บริหารข้ามเขตพื้นที่ได้ภายในจังหวัด กรณีที่ย้ายข้ามจังหวัดให้เสนอเรื่องมาที่ส่วนกลางเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นในโยกย้ายข้าราชการ สพฐ.ก็รับไปปรับแก้ไขกฎหมายทีเกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม ถือว่าข้อสรุปทั้งหมดได้ประโยชน์ทุกฝ่ายโดยไม่ส่งผลกระทบกับใครทั้งสิ้น และมาถึงจุดนี้ก็ยืนยันได้ว่าไม่มีการยุบทั้ง กศจ.และเขตพื้นอย่างแน่นอน

158161192883

ที่ปรึกษารมว.ศธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้มีมติการแต่งตั้งบุคลากรในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงเรียน และข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา เป็นบุคลากรที่ขึ้นตรง กับ สพฐ. แต่ขณะนี้แต่งตั้งโยกย้ายโดยคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จึงทำให้เกิดปัญหาว่าหลังจากปรับโครงสร้างบุคลากรของหน่วยงานใด ก็ต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดนั้นเป็นผู้มีอำนาจเลื่อน ลด ปลด ย้ายได้จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งก็คือให้ สพฐ.เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายได้

ด้าน อำนาจ วิชานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าตามการปรับโครงสร้าง สพฐ.ซึ่งมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ไม่มีการปรับโครงสร้าง สพฐ.ให้คงการบริหารจัดการแบบเดิม 2.การคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีการตั้ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต และ3.การตั้ง อ.ก.ค.ศ.สพฐ. โดยได้เสนอให้นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาฯ ก.ค.ศ.) ไปพิจารณาแล้วนั้น

158161192853

“ขณะนี้ ถือว่าลงตัวแล้วในเรื่องการคืนอำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 53(3)และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยให้มีการตั้งอ.ก.ค.ศ.จังหวัด และตั้งอ.ก.ค.ศ.สพฐ.เพื่อให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายมาอยู่ที่หน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งสำนักนิติการของสพฐ.อยู่ระหว่างการปรับแก้ไขกฎหมายทีเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 16 เรื่องการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 19 เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาค หลังจากนั้นเสนอการปรับแก้ไขกฎหมายให้ รมว.ศธ.พิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป”อำนาจ กล่าว

เลขาธิการ กพฐ. อธิบายต่อว่าสำหรับประเด็นการให้เพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ให้ครบทุก 77 จังหวัด ตามมติของสภาการศึกษา ขณะนี้ สำนักมัธยมศึกษาตอนปลายและกลุ่มพัฒนาระบบบริหารของสพฐ.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการขยาย โดยยึดหลักเกณฑ์ความสะดวกสบายในคมนาคม ค่าสัมปสิทธิ์จำนวนโรงเรียน นักเรียน และครู เช่น จังหวัดใดมีพื้นที่ห่างไกลกันมาก็ให้จัดตั้ง สพท.จังหวัดละ 1 แห่ง ส่วนจังหวัดใดที่ไม่ไกลกันมากก็ให้รวมสองจังหวัดเป็น 1 เขตพื้นที่

นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่าในส่วนของการเพิ่ม สพม.ให้ครบทุกจังหวัด สพฐ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังศึกษาและวิเคราะห์ดูเหตุผลความเหมาะสมว่าจะสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เพิ่มส่วนราชการหรือเพิ่มอัตราข้าราชการ เพราะเบื้องต้นต่อให้เรื่องดังกล่าวไม่ได้กระทบโรงเรียน แต่ สพฐ.ก็มีความกังวลในเรื่องดังนั้น เนื่องจากไม่อยากให้มีการเพิ่ม สพม.ครบทุกจังหวัด

“ทุกวันนี้ โครงสร้างเขตพื้นที่มี สพม.ไม่ครบทุกจังหวัด โดยสพม.บางแห่งต้องไปอาศัยโรงเรียนเป็นสถานที่ทำงาน อีกทั้งการปรับโครงสร้างศธ.ในภูมิภาคเมื่อปี 2560 ให้มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เกิดขึ้นบุคลากรบางส่วนของเขตพื้นที่ก็ไปอยู่กับกศจ. ดังนั้นในเรื่องนี้เรากำลังชั่งน้ำหนักดูความเหมาะสม และจะไม่ได้เร่งรัดให้สรุป แต่อยากวิเคราะห์กันรอบด้านก่อนไม่ว่าจะเป็นอัตรากำลัง สถานที่ และงบประมาณ แต่ตัวเลขการเพิ่มสพม.คาดว่าจะเพิ่มไม่เกิน 20 เขต”เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

อย่างไรก็ตาม “การปรับโครงสร้างของศธ." ครั้งนี้ เบื้องต้นได้ข้อสรุปเพียงส่วนหนึ่งในเรื่องของภาระงานที่ไม่ซ้ำซ้อน และได้ประโยชน์ทุกฝ่ายโดยไม่ส่งผลกระทบกับใครทั้งสิ้น และมาถึงจุดนี้ก็ยืนยันได้ว่าไม่มีการยุบทั้ง กศจ.และ สพม.อย่างแน่นอน ส่วนโครงสร้างศธ.จะออกมาในรูปแบบใด คงต้องติดตามกันต่อไป