ปตท.ห่วงแล้งกระทบอีอีซี แนะรัฐผลิตน้ำจืดจากทะเล

ปตท.ห่วงแล้งกระทบอีอีซี แนะรัฐผลิตน้ำจืดจากทะเล

ปตท. ห่วงภัยแล้งกระทบอุตสาหกรรมในอีอีซี แนะรัฐดึงเอกชนร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตน้ำจืดจากทะเล รองรับ อีอีซี ขยายตัว เผย บอร์ด แผนลงทุน 5 ปี 1.8 แสนล้านบาท เน้นสร้างมูลค่าเพิ่มจากความชำนาญของธุรกิจเดิม

     นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่มปตท.ได้รายงานต่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในการหารือร่วมกันเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2563 ถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจมีความกังวลว่าอาจจะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในระยะยาว โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ แต่ในระยะสั้นปีนี้ เชื่อว่าภาคอุตสาหกรรม น่าจะผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าวไปได้ เนื่องจากมีการเชื่อมท่อผันน้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.จันทบุรี มาให้จ.ระยองในเบื้องต้น

     ส่วนในระยะยาว ได้เสนอให้ภาครัฐ เปิดประมูลในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ให้เอกชนผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของประชากรในพื้นที่อีอีซี เนื่องจากใน อีอีซี มีพื้นที่แหล่งน้ำจากธรรมชาติน้อย ไม่เพียงพอจาการขยายตัวของ อีอีซี ในอนาคต

     สำหรับการประชุมคณะกรรมการบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ บอร์ด ปตท. เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2563 ได้มีมติเห็นชอบแผนการลงทุน 5 ปี (2563-2567) ของ ปตท. และบริษัท ที่ ปตท.ถือหุ้น 100% วงเงินรวม 180,814 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2563 อยู่ที่ 69,310 ล้านบาท,ปี2564 อยู่ที่ 41,415 ล้านบาท,ปี2565 อยู่ที่ 30,484 ล้านบาท ,ปี2566 อยู่ที่ 20,545 ล้านบาท และปี 2567 อยู่ที่ 19,060 ล้านบาท

     รวมถึง ปตท.ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้าจำนวน 203,583 ล้านบาท เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเสริมความร่วมมือของกลุ่มปตท. จากความชํานาญของธุรกิจเดิม อาทิ LNG Value Chain โครงการ Gas-to-Power รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานเพื่อให้สอดคล้อง กับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ รวมถึงตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค และแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาด