บอร์ด รฟท.รื้อทีโออาร์บางซื่อ

บอร์ด รฟท.รื้อทีโออาร์บางซื่อ

บอร์ด ร.ฟ.ท.สั่งรื้อทีโออาร์ ศึกษาโมเดลรวมสัญญาประมูลสถานีกลางบางซื่อ ควบพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟสายสีแดง เดิมแยกประมูล 4 สัญญา เม็ดเงินเพียง 668 ล้านบาท หวังสัญญาใหม่มูลค่าเพิ่ม ดึงดูดการลงทุน

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการรายงานถึงความคืบหน้าของการบริหารจัดการและพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) โดยการประชุมบอร์ดครั้งนี้ ได้มีการเสนอแนวคิดที่จะเปิดประมูลงานบริหารจัดการและพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ รวมเป็น 1 สัญญา รวมการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟสายสีแดงด้วย

ขณะที่ผลการศึกษาในทีโออาร์เดิม จะเปิดประมูลเฉพาะในส่วนของสถานีกลางบางซื่อ แยกออกเป็น 4 สัญญา คือ 1.สัญญาบริหารพื้นที่ภายใน 5 ปี 2.สัญญาการบริหารพื้นที่จอดรถในสถานีกลางบางซื่อ 1,700 คัน เวลา 5 ปี 3.สัญญาการให้บริการพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในและรอบสถานีรวม 13,208 ตารางเมตร (ตร.ม.) ระยะเวลา 10 ปี และ 4.สัญญาบริหารพื้นที่สื่อโฆษณาในและรอบสถานีกลาง 2,000 ตร.ม. สัญญา 10 ปี

“ตอนนี้ก็เป็นเพียงแนวคิดที่มีในบอร์ด เพราะเกรงว่าหากแยกสัญญาประมูลจะไม่ดึงดูดเอกชนลงทุน ซ้ำรอยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์แปลงเอ บอร์ดจึงต้องการให้เราศึกษาเพิ่มเติมว่าหากรวมสัญญาแล้ว จะทำให้เอกชนสนใจเข้าร่วมมากขึ้นหรือไม่”

รายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท. ระบุว่า บอร์ดไม่เห็นชอบผลการศึกษาแนวคิดการบริหารจัดการและพัฒนาสถานีกลางบางซื่อตามที่ ร.ฟ.ท.เสนอในครั้งนี้ โดยมีมติให้ ร.ฟ.ท. กลับไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการมาใหม่ และเสนอให้เปิดประมูลแบบรายเดียว รวมงานบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อ อาทิ งานทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย เป็นสัญญาเดียวกันกับงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟชานเมืองสายสีแดงด้วย

“บอร์ดสั่งการให้เรากลับไปศึกษารูปแบบรวมสัญญาเดียวมาเพิ่มเติม แต่บอร์ดไม่ได้ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะสาเหตุใดที่จะต้องทำเช่นนี้ ซึ่งเราก็ต้องกลับไปศึกษาทั้งหมดเพิ่มเติม ให้เป็นไปตามมติบอร์ด และกลับมาเสนอผลการศึกษาและทีโออาร์อีกครั้งในเดือนหน้า ทำให้การประมูลอาจจะต้องล่าช้าออกไปอีก 1-2 เดือน จากเดิมมีกำหนดจะประมูลในช่วงเดือน เม.ย - พ.ค. นี้ อาจจะขยับไปประมูล ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่จะถึง และได้ตัว ก.ย.นี้”

ขณะที่มูลค่าการลงทุน จากเดิมทีโออาร์ทั้ง 4 สัญญา มีมูลค่ารวมประมาณ 668 ล้านบาท เมื่อมีการรวมสัญญาพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟสายสีแดงเข้าไปด้วย ก็จะส่งผลให้มูลค่าสัญญาครั้งนี้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การรวมสัญญาประมูลในลักษณะดังกล่าว นอกจากจะทำให้ได้เอกชนเพียงรายเดียวเข้ามาบริหารจัดการงานทั้งหมดแล้วจะทำให้เอกชนรายเล็กไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เพราะเมื่องานมีมูลค่าสูง และต้องมีความชำนาญหลายด้าน ก็จำเป็นต้องเป็นเอกชนรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้ การกำหนดให้เอกชนรายเดียวบริหารจัดการทุกอย่าง หากติดปัญหา ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงในเดือน ม.ค. 2564