'อีสท์สปริง' เร่งควบ 2 บลจ. กางเป้า 5 ปี เข้าถือหุ้น 100%

'อีสท์สปริง' เร่งควบ 2 บลจ. กางเป้า 5 ปี เข้าถือหุ้น 100%

“อีสท์สปริง” จ่อควบรวม 2 บลจ. “ทหารไทย- ธนชาต” ภายในปี 64 วางแผนเข้าถือหุ้น 100% ใน 5 ปีข้างหน้า ย้ำผู้บริหารระดับสูงยังเป็นคนไทย ผสานจุดแข็งหวังดันเอยูเอ็มเติบโตกว่า 10% ต่อปี จากปัจจุบันทั้ง 2 บลจ.มีส่วนแบ่งตลาด 12% ขึ้นแท่นอันดับ 4 ของไทย

นายนิค นิแคนดรู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย เปิดเผยว่า อีสท์สปริง อินเวสท์เมนทส์ บริษัทจัดการลงทุนในภูมิภาคเอเชียของกลุ่มบริษัทพรูเด็นเชียล  จะควบรวมกิจการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กองทุนธนชาต และบลจ.ทหารไทย ภายในปี 2564 โดยอิสท์สปริงจะถือหุ้น 60% และธนาคารทหารไทยธนชาตถือ 40% แต่หลังจากนั้นจะทยอยขายหุ้นให้อีสท์สปริง และภายใน 5 ปี อิสท์สปริงจะเข้าถือหุ้น 100%  สำหรับชื่อใหม่นั้น  มีความเป็นไปได้จะใช้ชื่อ “อีสท์สปริง”  

ทั้งนี้ ปัจจุบันอีสท์สปริง ถือหุ้น 65% ในบลจ.ทหารไทย (ซื้อกิจการ ก.ย.2561) และถือหุ้น 50.10% ในบลจ.ธนชาต (ซื้อกิจการก.พ.2563) สำหรับผู้บริหารระดับสูง ยังต้องอาศัยบุคคลากรภายในประเทศของทั้ง 2 องค์กรเป็นหลัก คาดหวังสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) เติบโตได้เป็นสองหลักต่อปี โดยหลังจากเข้าซื้อกิจการ บลจ. ทั้งสองแห่ง ทำให้อีสท์สปริงเป็นบลจ.ใหญ่อันดับ 4 ของไทยมีส่วนแบ่งการตลาด 12% และ AUM อยู่ที่ 668,000 ล้านบาท

“เรามองว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดขนาดใหญ่ ที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จากการเติบโตของชนชั้นกลาง ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้น วัฒนธรรมการออมที่เข้มแข็ง และอัตราการเข้าถึงกองทุนรวมที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมไทยยังเติบโตได้อีกมาก จากในช่วง5ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี และคาดหวังว่าเราสร้างการเติบโตได้เร็วกว่าอุตสาหกรรม”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า การควบรวมบลจ.ทั้งสองแห่ง ทำให้คนไทยมีชีวิตและความมั่นคงขึ้น เพราะเมื่อขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น มีช่องทางให้คนไทยเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ลดลง โดยที่ผ่านมาธนาคารได้มีการลงทุนระบบบริการซื้อขายผลิตภัณฑ์กองทุนจากหลากหลายบลจ. หรือ Open-Architecture ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงกองทุนคุณภาพ และหลากหลายสินทรัพย์การลงทุนทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น หลังจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างเครื่องมือการลงทุนและบริการใหม่ ๆ มาสนับสนุนการลงทุนภายใต้ทิศทางดอกเบี้ยต่ำในระยะยาว และรองรับสังคมสูงวัย ปัจจุบันพบว่ามีแค่ 1 ใจ 70 คนที่มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณ