พลังของการชมเชย

หากจำเป็นต้องเลือกทำเพียงอย่างเดียวระหว่างการชมกับการติ จากผลการทดลองพบว่าการชมเชยมีผลต่อความสำเร็จ มากกว่าคำตำหนิหลายเท่าตัว

ต้องยอมรับว่าการชมเชย ไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยโดยสายเลือด สังเกตได้ง่ายๆ เช่น เวลามีคนชมลูกว่าเรียบร้อยจัง พ่อแม่ส่วนใหญ่มักรีบออกตัวทันทีว่า "โอ๋ย ไม่หรอก อยู่บ้านซนจะตาย" เพราะเรามีความเชื่อว่า ชมแล้วจะเหลิง

อันที่จริงความเชื่อนี้ฝังรากหยั่งลึกมาแต่โบร่ำโบราณ สะท้อนให้เห็นผ่านสุภาษิตคำสอนหลายบท อาทิ หวานเป็นลม ขมเป็นยา ฯลฯ หลายคนมีความเชื่อว่า ทำดีไม่ต้องชม แต่ถ้าทำไม่ดีควรตำหนิ เพราะคำชมเชยไม่มีประโยชน์อะไร แต่คำตำหนิจะช่วยให้อีกฝ่ายพัฒนาและปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น

แต่...ความเชื่อกับความจริงอาจต่างกัน!

ผมเคยทำการทดลองหลายครั้งในห้องสัมมนา โดยให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่เป็นอาสาสมัคร 3 คนออกไปรอนอกห้อง แล้วให้คนที่เหลืออยู่ในห้องช่วยกันกำหนดว่า เมื่อผู้ที่อยู่นอกห้องเดินเข้ามา อยากให้เขาเดินไปหยุดตรงจุดไหนและทำอะไร เช่น ให้เดินไปที่โต๊ะทางด้านริมซ้ายสุดของห้อง หยิบปากกาที่วางอยู่บนโต๊ะขึ้นมา แล้วนำไปวางไว้บนเก้าอี้ที่อยู่ห่างออกไปอีก 2 ก้าว เป็นต้น

หลังจากนั้นจะให้คนที่รออยู่นอกห้อง ซึ่งไม่รู้เรื่องราวที่มีการคุยกันเข้ามาในห้องทีละคน โดยตกลงกันว่า สำหรับคนแรก หากเขาเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือทำในสิ่งที่ตรงกับที่กำหนดไว้ ทุกคนที่อยู่ในห้องจะเฉยๆ ไม่ส่งเสียงอะไร แต่หากเดินไปผิดทาง หรือทำในสิ่งที่ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้เมื่อไร ทุกคนจะส่งเสียงโห่ฮา

สำหรับคนที่สอง ทำตรงกันข้ามคือ หากเขาเดินหรือทำถูกต้อง ทุกคนในห้องจะปรบมือ แต่หากเดินหรือทำผิดเมื่อไร ทุกคนจะเงียบ

ส่วนคนที่สาม ทำทั้งสองอย่างคือ ถ้าไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือทำในสิ่งที่ตรงกับที่กำหนดไว้ ทุกคนจะปรบมือ และหากไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้องหรือทำไม่ถูก ทุกคน จะโห่ไล่

ลองทายดูซิครับว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ใครจะทำงานสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ก่อนกัน คนที่หนึ่ง คนที่สอง หรือคน ที่สาม?

ปรากฏว่า คนแรกทันทีที่เข้ามาในห้อง แล้วได้ยินเสียงโฮ่หา ก็สับสนงงงวย ไปไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปทางไหนหรือทำอะไรดี ส่วนใหญ่ทำงานไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายกว่านั้น การทดลองบางครั้ง บางคนถึงกับหงุดหงิด โวยวาย และเลิกทไกิจกรรมนี้กลางคัน

คนที่สองทำงานสำเร็จ สามารถเดินไปตรงจุดที่กำหนดไว้ และหยิบปากกาไปวางที่เก้าอี้ได้เร็วกว่าคนแรกมาก 

ส่วนคนที่สาม สามารถทำงานได้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ไม่เสียเวลาสะเปะสะปะ รู้ทันทีว่าตนเองไปในทิศทางหรือทำในสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้าทำถูกจะได้รับเสียง ปรบมือ และทำผิดจะได้รับเสียงโห่ฮา

การทดลองที่ผมทำทุกครั้งได้ผลตรงกันไม่ผิดเพี้ยน คือผู้ที่ทำได้สำเร็จเร็วที่สุดคือคนที่ 3 รองลงมาคือคนที่ 2 ส่วนคนที่หนึ่งทำได้ช้าที่สุด หรือทำไม่สำเร็จเลย อันที่จริงกิจกรรมนี้ จำลองมาจากการทดลองทางจิตวิทยาที่มีการศึกษากันอย่างจริงจังในต่างประเทศ

ข้อคิดที่ได้จากกิจกรรมนี้คือ การชมเชย เมื่อทำดีหรือทำในสิ่งที่ถูกต้อง และการตำหนิ เมื่อทำไม่ดีหรือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะช่วยให้คนประสบความสำเร็จได้มาก และเร็วกว่าการทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเลือกทำเพียงอย่างเดียวระหว่างการชมกับการติ พบว่าการชมเชยมีผลต่อความสำเร็จ มากกว่าคำตำหนิหลายเท่า!

เพราะฉะนั้นปีใหม่นี้ ลองปรับวิธีคิดและเปลี่ยนวิธีการสื่อสารกับคนรอบข้างดู หากคุณเป็นคนที่คุ้นชินกับการติแต่ไม่ค่อยชมเชย จากนี้ไปลองหัดชมบ้าง ทุกครั้งที่คนอื่นทำสิ่งดีๆ รีบบอกเขา ในทางกลับกันเมื่อใดก็ตามที่เขาทำสิ่งที่ไม่ดี ก็ให้รีบบอกเช่นกัน หากทำได้เช่นนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จให้กับผู้คนรอบข้างแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้เกิดขึ้นได้อีกด้วย

อย่าลืมว่า มนุษย์ทุกคนต้องการคำชมเชย (ที่จริงใจ) เพราะคำชมคือ น้ำมันที่คอยหล่อลื่นชีวิตและจิตใจ