'บาติก' สายสัมพันธ์สยามและชวา

'บาติก' สายสัมพันธ์สยามและชวา

ผ้าบาติก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติโดยองค์การยูเนสโกเมื่อ พ.ศ. 2552

นิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยมหาราช : สายสัมพันธ์สยามและ ไม่เพียงถ่ายทอดเรื่องราวการเสด็จเยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมจัดแสดงผ้าบาติกสะสมที่สวยงามจากเมืองต่างๆ หากยังเป็นโอกาสเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 70 ปีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปีพ.ศ.2563 อีกด้วย

ในการเสด็จเยือนชวาอย่างเป็นทางการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ.2413 นับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อทอดพระเนตรความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ และเพื่อทรงศึกษาแบบอย่างการปกครอง ธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

จากนั้นยังได้เสด็จเยือนชวาอีกสองครั้งในปี 2439 และ 2444 ระหว่างการเสด็จเยือนชวา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการเขียนผ้าบาติกอันเป็นหัตถศิลป์ที่เลื่องชื่อของชวาและเป็นที่พอพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงซื้อผ้าบาติกกลับมาเป็นจำนวนมากและมีผู้ทูลเกล้าฯถวายรวมทั้งสิ้นกว่า 300 ผืน

158159019572

ฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ชวา (จำลอง)

ผ้าเหล่านี้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีมีการให้หมายเลขกำกับผ้าแต่ละผืน และบันทึกข้อมูลรายละเอียดของผ้าแนบไว้ ถือเป็นหลักฐานสำคัญยิ่งที่ทำให้ 2 ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เดล แคโรลีน กลักแมน และ ศาสตรัตน์ มัดดิน ใช้อ้างอิงในการศึกษาวิจัยค้นคว้าต่อในเชิงลึก โดยเดินทางไปค้นคว้าศึกษาข้อมูลทั้งในประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อสืบค้นข้อมูลของช่างเขียนผ้าบาติกชาวดัตช์ และประเทศอินโดนีเซียเพื่อค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเขียนผ้าในหลายๆเมืองเพื่อนำมาศึกษาเทียบเคียงกัน เป็นเวลานาน 4 ปี

158159042235

ผ้าบาติกลายสิริกิติ์ (ออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสื่อถึงพระสิริโฉมและจริยวัตรอันงดงาม

ศาสตรัตน์ มัดดิน กล่าวถึงนิทรรศการในชุดที่ 2 นี้ว่าเป็นการจัดแสดงผ้าบาติกชุดใหม่ หลังจากชุดแรกเปิดแสดงไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 โดยเปลี่ยนวัตถุจัดแสดงเดิมออกทั้งหมด ยกเว้นผ้าบาติกลายสิริกิติ์ (ออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อสื่อถึงพระสิริโฉมและจริยวัตรอันงดงาม เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ พ.ศ.2503) นำผืนผ้าที่ไม่เคยจัดแสดงมาก่อน 37 ผืนออกจัดแสดง

โดยมีไฮไลท์เป็นผ้าบาติก 2 ผืน ได้แก่ ผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) จากเมืองจิเรบอน ชวาตะวันตก ใช้ในโอกาสพิเศษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ส่วนอีก หนึ่งผืนเป็นผ้าบาติกลายมิกาโดจากเมืองยอกยาการ์ตาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะญี่ปุ่นนำพัดญี่ปุ่นรูปแบบต่างๆมาเขียนลงบนผ้าบาติกได้อย่างงดงาม

158159044460

 ผ้าโพกศีรษะเขียนทอง (ปราดา) จากเมืองจิเรบอน ชวาตะวันตก ใช้ในโอกาสพิเศษสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ห้อง โดยห้องแรกจัดแสดงผ้าบาติกที่มาจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของชวากลางและพื้นที่ชวาตะวันตก ได้แก่ ผ้าบาติกที่มาจากเมืองเปอกาลองงัน เมืองที่มีโรงเขียนผ้าบาติกที่มีชื่อเสียงมาก โดยเฉพาะโรงเขียนผ้าของชาวชวาเชื้อสายยุโรปและชาวดัตช์ ซึ่งนิยมสร้างสรรค์ลวดลายดอกไม้ ผีเสื้อ คิวปิด นกคู่บนพื้นหลังสีครีม ชายผ้าด้านล่างประดับด้วยลายลูกไม้ รูปแบบการวางท้องลายที่ท้องผ้าอาจได้รับอิทธิพลผ้าพิมพ์ลายแบบยุโรป ซึ่งได้รับอิทธิพลจากผ้าพิมพ์อินเดียมาอีกทอดหนึ่ง

158159047719

ผ้าบาติกลายมิกาโด จากเมืองยอกยาการ์ตา

เมืองจิเรบอน เป็นศูนย์กลางการทำผ้าบาติกที่สำคัญแห่งหนึ่งในชวาตะวันตก มีการติดต่อค้าขายกับจนมาตั้งแต่อดีต ฉะนั้นผ้าบาติกชั้นสูงของที่นี่จึงได้รับอิทธิพลจากจีน มีพื้นหลังสีอ่อน ย้อมด้วยสีเข้ม เช่นน้ำเงิน ซึ่งเจ้าสาวจะสวมเมื่อต้องจากครอบครัวตนเองไปอยู่กับครอบครัวสามี สำหรับผ้าโพกศีรษะเขียนทองที่เรียกว่า ปราดา นั้นสันนิษฐานว่ามาจากเมืองจิราบอน พบเพียงหนึ่งผืนจากผ้าบาติกสะสมทั้งหมด

และ ผ้าบาติกเมืองลาเซ็มมีความโดดเด่นตรงการเขียนลวดลายแบบจีน เพราะเจ้าของโรงเขียนผ้าส่วนใหญ่เป็นชาวชวาเชื้อสายจีน นิยมย้อมสีเข้ม โดยเฉพาะสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเนื่องจากมีแร่ธาตุในน้ำที่ต่างจากเมืองอื่น รวมถึงการใช้ผ้าคุณภาพดีและฝีมือการเขียนลายที่ประณีตมาก

158159055358

ผ้าบาติกฝีมือช่างเชื้อสายจีน เป็นผ้านุ่งลายจอหงวนขี่ม้ากลับเข้าหมู่บ้าน ด้วยท่าทางดีใจเพราะสอบผ่านเข้ารับราชการเป็นจอหงวนได้ เป็นผ้าที่แม่จะนุ่งเพื่ออวยพรให้ลูกชายสอบผ่าน

ส่วนห้องที่สองจัดแสดงผ้าบาติกจากพื้นที่ชวากลาง ประกอบไปด้วยเมืองยอกยาการ์ตา และเมืองสุราการ์ตา ผ้าบาติกจากเมืองสุราการ์ตานิยมย้อมด้วยสีน้ำเงินครามและสีน้ำตาลแบบโชกะหรือน้ำตาลอมเหลืองซึ่งอ่อนกว่าสีน้ำตาลที่ย้อมผ้าบาติกเมืองยอกยาการ์ตา นิยมเขียนลายเซเมน ลายสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆรวมถึงช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ

158159057222

ผ้าบาติกลายมิกาโด จากเมืองยอกยาการ์ตาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะญี่ปุ่นนำพัดญี่ปุ่นรูปแบบต่างๆมาเขียนลงบนผ้าบาติกได้อย่างงดงาม

สำหรับผ้าลายมิกาโด จากเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของนิทรรศการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของศิลปะแบบญี่ปุ่นที่เข้ามามีบทบาทในชวาช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ 19 ตรงกับช่วงเวลาที่มีการผลิตผ้าผืนนี้ จะปรากฏลวดลายพัดญี่ปุ่นแบบต่างๆบริเวณท้องผ้า โดยมีพื้นหลังเป็นลายกาวุงซึ่งเป็นลายดั้งเดิมของชวากลาง บริเวณหัวผ้ามีการเขียนลายพัดญี่ปุ่นสลับกับลายพรรณพฤกษา

ภัณฑารักษ์ อธิบายว่า “ในอดีตเราสามารถแยกลวดลายผ้าว่ามาจากเมืองใดได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะแต่ละที่มีการเขียนลายและการย้อมที่เป็นเอกลักษณ์ แต่ปัจจุบันนี้ลวดลายผสมผสานกันไปหมดแล้ว เนื่องจากสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต ทางรัฐบาลอยากให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันจึงให้โรงเขียนผ้าที่เมืองสุราการ์ตาออกแบบลวดลายที่ผสมผสานความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเมืองเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากให้ข้าราชการสวมใส่และต่อมากระจายไปยังคนทั่วไป”

ลายผ้าบาติกจึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของความหมาย ความงาม และประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวในแต่ละช่วงเวลาอย่างมีศิลปะ

หมายเหตุ : นิทรรศการ “ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา” (ชุดที่ 2) จัดแสดงถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง เปิดให้เข้าชมทุกวัน 09.00-16.30 น.

บัตรเข้าชมราคา 150 บาทสำหรับผู้ใหญ่ 80 บาทสำหรับผู้สูงอายุ และ 50 บาทสำหรับนักเรียน/นักศึกษาและเด็กอายุ 12-18 ปี และฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โทร. 0-2225-9420 หรือ www.facebook.com/qsmtthailand