‘ตราด’ กับ ‘กัมพูชา’ โอกาสการพัฒนาร่วมกัน

‘ตราด’ กับ ‘กัมพูชา’ โอกาสการพัฒนาร่วมกัน

ตราดเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการเชื่อมโยง เพื่อการพัฒนาร่วมกันกับกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว แต่ตราดยังมีประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญด้านขนาดพื้นที่ และทำเลที่ตั้ง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด

ITD ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยโครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อรองรับโอกาสและผลกระทบจากการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ โดยศึกษาเชิงลึกกรณี จ.ตราด ผลการศึกษาพบว่า ตราดเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการเชื่อมโยง เพื่อการพัฒนาร่วมกันกับกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว

อย่างไรก็ตาม ตราดมีประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญด้านขนาดพื้นที่ และทำเลที่ตั้ง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตราด ยังมีขนาดที่ไม่กว้างมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น นอกจากนั้น การที่ตราดมีขนาดเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่ไม่ได้โตมาก และไม่ได้มีวัตถุดิบหลักที่เอื้อต่อการสร้างอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาก ขณะที่อุตสาหกรรมท้องถิ่น อย่างเช่น อุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป มีการพัฒนาในระดับที่อิ่มตัว และสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตในปัจจุบันอยู่แล้ว

อุตสาหกรรมการผลิตกลุ่มใหม่ที่ต้องการเน้นการใช้แรงงานราคาถูก ผู้ประกอบการก็มีตัวเลือกอื่นที่น่าสนใจคือ นิคมอุตสาหกรรมเกาะกงในกัมพูชา ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน แต่มีความได้เปรียบเรื่องค่าแรง รวมทั้งสิทธิพิเศษทางการค้ามากกว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษตราดจึงขาดจุดดึงดูดให้นักลงทุนสนใจมาลงทุน เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขการลงทุนบางประการ เช่น กิจการศูนย์กลางสินค้าเกษตร จะต้องมีพื้นที่มากกว่า 50 ไร่ ศูนย์กระจายสินค้าระบบทันสมัย ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ฯลฯ เงื่อนไขเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดในผู้ประกอบการขนาดกลางหรือเล็กในท้องถิ่นไม่สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้

เมื่อพิจารณาในมุมของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ก็ไม่ได้ถูกดึงดูดโดยสิทธิประโยชน์เหล่านี้มากนัก เมื่อเทียบกับข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งและต้นทุนแล้ว ในมิติด้านด้านแรงงาน ปัจจุบันตราดอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชาในปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากเกาะกง นิยมไปทำงานในนิคมอุตสาหกรรมเกาะกงแทน

มิติด้านที่ดินและระบบสาธารณูปโภค การประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้ราคาที่ดินบางส่วนปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่พื้นที่เป้าหมายก็ยังไม่มีการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างระบบน้ำประปาและไฟฟ้า เนื่องจากเมื่อยังไม่มีนักลงทุนก็อาจจะไม่คุ้มค่า หากลงทุนไป

จากการประชุมระดมสมองเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจ ธุรกิจซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ ธุรกิจส่งเสริมสินค้าเกษตรแบรนด์ตราด มุ่งเน้นให้เป็นสินค้าพรีเมียม มีมาตรฐาน GAP รับประกันความปลอดภัย ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พรีเมียมสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจ โกดังกระจายสินค้า รวมทั้งมีห้องเย็นและห้องแช่แข็ง ธุรกิจโรงเรียน ฝึกอบรมบุคลากร

ในมิติความเชื่อมโยงของตราดกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง กัมพูชา ปัจจุบันมีจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก มีศักยภาพด้านโลจิสติกส์ เป็นช่องทางการนำเข้าสินค้าจากกัมพูชาที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิต โดยผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกง เช่น ชุดสายไฟรถยนต์สำเร็จรูป ยางในลูกบอล ฯลฯ และสินค้าในกลุ่มอาหารทะเลสดและแปรรูป

แต่ข้อจำกัดของจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กคือ ลักษณะทางกายภาพของด่านมีขนาดเล็ก เข้าออกลำบาก ถนนบางส่วนมีสภาพไม่ดีและมีเพียง 2 ช่องทาง ซึ่งเป็นอุปสรรคในช่วงที่มีความต้องการขนส่งหนาแน่น และมีอุปสรรค เช่น ไฟฟ้าที่ส่องสว่างไม่เต็มที่ในบางช่วง การเดินทางของชาวกัมพูชา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการเข้ามาท่องเที่ยวและซื้อขายสินค้าในไทย ที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการข้ามแดนที่ต้องใช้เอกสารมาก และมีขั้นตอนยุ่งยาก

สำหรับตราดมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เพราะมีเส้นทางการท่องเที่ยว สาย R10 เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวซึ่งสามารถเดินทางไปได้ถึง พนมเปญ หรือเวียดนามตอนใต้ ในรูปแบบของ “One Market, Three Destination” โดยเชื่อมตราดเข้ากับโครงการดาราซากอร์ ในเกาะกง และหมู่เกาะฟูก๊วก เวียดนามด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวซึ่งเน้นกลุ่มคุณภาพสูงสามารถเดินทางทางเรือ เพื่อเชื่อมการเดินทาง 3 ประเทศได้

การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ เป็นนโยบายหนึ่งของภูมิภาคในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของทั้ง 2 ด้าน ทางตอนใต้ของภูมิภาค คือ พื้นที่ตั้งแต่เมียนมา ไปจนถึงเวียดนาม ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่เชื่อมต่อทางทะเลทั้ง 2 ด้าน คือ จากมหาสมุทรอินเดีย ไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก โดยใช้การเชื่อมต่อทางถนนภายในพื้นที่ส่วนที่เป็นภาคพื้นดิน

การพัฒนาตลอดแนวเส้นทางยังมีปัจจัยเกี่ยวข้อง ทั้งด้านของยุทธศาสตร์และนโยบายของแต่ละประเทศ ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงเป็นโอกาสและความท้าทายของแต่ละประเทศในการที่จะพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะข้อตกลงทวิภาคี เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ควบคู่พร้อมกับการเป็นความร่วมมือแบบข้อตกลงพหุภาคี ที่ทำโดยทั้ง 4 ประเทศ เช่น การเจรจาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและเมียนมา หรือการเจรจาเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเกาะกงที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชา