รักใคร (ส่งเสริม) ให้ใช้ 'ถุงยางฯ' ลดปัญหาท้องไม่พร้อม ป้องกันโรคติดต่อ

รักใคร (ส่งเสริม) ให้ใช้ 'ถุงยางฯ'  ลดปัญหาท้องไม่พร้อม ป้องกันโรคติดต่อ

จากสถิติกรมควบคุมโรค ระบุปี 2562 เยาวชนอายุ 15-24 ปี ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มากที่สุด คือ หนองใน ซิฟิลิส การปลูกฝังการใช้ถุงยางอนามัยให้กับวัยรุ่น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการตั้งครรภ์ และป้องกันโรคได้กว่า 98%

วานนี้ (12 กุมภาพันธ์) กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศ “วันรุ่น 2020 รู้จักป้องกันท้อง ป้องกันโรค” เนื่องในวันถุงยางอนามัยสากล (International Condom Day 2020) ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เพื่อสร้างความเข้าใจ ปรับทัศนคติต่อถุงยางอนามัยของสังคมไทย

  • วัยรุ่นไทยคลอด190คนต่อวัน

พญ.มณฑินี วสันติอุปโภคากร รองผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน การคลอดของวัยรุ่นไทยก็ยังคงมีอัตราที่สูง โดยพบว่า วันรุ่นอายุ 15 – 19 ปี มีอัตราการคลอด 35 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน หรือ 190 คนต่อวัน หรือราว 3 คนต่อจังหวัดต่อวัน

158152023863

ทั้งนี้ ปี 2562 เยาวชนอายุ 15-24 ปี ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรค ได้แก่ หนองใน ซิฟิลิส หนองในเทียม แผลริมอ่อน และกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง สูงถึง 124.6 ต่อประชากรแสนคน มากที่สุดคือ หนองใน 69.7 และซิฟิลิส สูงถึง 39.3 ต่อประชากรแสนคน นอกจากนี้ จากการสำรวจวัยรุ่นในวัยเรียน พบว่า อัตราการใช้ถุงยางอนามัยครั้งล่าสุดของวัยรุ่นภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา พบมีการใช้ 76% ซึ่งถือว่าต่ำ จากเกณฑ์ที่ต้องเป็น 90% และการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งสม่ำเสมอมีเพียง 45% เนื่องจากความไว้ใจ

158152023985

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้ถุงยางอนามัยมากที่สุดในโลก เพราะมีการวางกรอบแนวคิดให้กับประชาชนมองว่าการใช้ถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ สร้างจิตสำนึก สร้างทัศนคติให้ทุกคนต้องใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เน้นการคุมกำเนิดโดยวิธีนี้ ยกเว้นหากต้องการจะมีบุตร ขณะที่ไทยมีวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นๆ เช่น การใช้ยาฝัง การใช้ห่วง ฯลฯ ซึ่งความจริงแล้ว การใช้ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันได้กว่า 98% ทั้งการคุมกำเนิดและป้องกันโรคอื่นๆ 

เช่น เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบ B (มีผู้ป่วยกว่า 2-3 ล้านคน) และ ไวรัสตับอักเสบ C (มีผู้ป่วยกว่า 3-4 แสนคน) รวมถึงป้องกันภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนักอีกด้วย ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมเรื่องถุงยางอนามัยเชิงบวก ปรับภาพลักษณ์ให้เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

158152023961

  • ชาย80%ปรึกษาเรื่องเอดส์

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา รองผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (Access) และผู้รับผิดชอบโครงการสายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม 1663 ระบุว่า สถิติจากสายด่วน 1663 ปี 2562 จากจำนวนคนโทรเข้ามาปรึกษากว่า 6 หมื่นราย พบว่า 65% คือปัญหาท้องไม่พร้อม โดยเป็นเพศหญิงวัยทำงาน 70% และเพศหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี 30% อันเนื่องมาจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน ขณะเดียวกันมีผู้โทรเข้ามาปรึกษาเพราะกังวลเรื่องติดเชื้อเอชไอวี 35% โดยกว่า 80% เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 25-45 ปี เนื่องจากมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ใช้ถุงยางอนามัย และสิ่งที่น่ากังวลยิ่งขึ้น คือ เพศชายที่โทรเข้ามาจำนวนหนึ่ง มีคู่นอนหลายคน และไม่พร้อมเปิดเผยความเสี่ยงกับคู่รักของตนเอง

158152023896

“จากที่โทรเข้ามาปรึกษาส่วนใหญ่เลือกไม่ใช่ถุงยางอนามัยกับคนที่เขาไว้วางใจ แต่ใช้กับคนที่ซื้อบริการทางเพศ หรือ คู่ที่ฉาบฉวย ประเด็นสำคัญคือ คนหนึ่งอาจจะมีคู่ที่ไว้วางใจมากกว่า 1 คน เช่นเดียวกันเพศหญิงที่โทรมาปรึกษาเรื่องท้องไม่พร้อมพบว่า อายุต่ำกว่า 20 มีประสบณ์การใช้ถุงยาง 45% แต่ใช้แค่ในบางกรณี และใช้วิธีหลั่งข้างนอก เป็นอันดับ 4 อยู่ที่ 13% เพราะคิดว่าจะไม่ท้อง และเด็กที่โทรมาปรึกษาเรื่องท้องกว่า 15% ไม่เคยมีประสบการณ์คุมกำเนิดแม้แต่ครั้งเดียว”

158152023940

  • รักใครต้องส่งเสริมให้ใช้ถุงยาง

นายสมวงศ์ กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น คำถามคือ ใครจะเป็นคนเตรียมพร้อมให้พวกเขา เมื่อต้องมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เมื่อชีวิตเขาอยู่ในโรงเรียน และอยู่บ้าน เด็กมักจะถูกเตรียมตัวไม่ให้มีเซ็ก พอเจอวันแรกเขาจะทำตัวไม่ถูก ขณะที่ถุงยางอนามัยมักมีความคิดในเชิงลบว่าใช้กับคนที่ไม่ไว้ใจ แต่ความจริงต้องใช้กับทุกคน และเป็นเรื่องของทุกคน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของพ่อแม่ อันดับแรกในการเตรียมความพร้อม

158152023950

“ปีที่แล้วปีเดียว คนที่มีปัญหาเรื่องท้องไม่พร้อม และจบด้วยการติดเชื้อเอชไอวี 5 ราย คิดว่าเขาอาจจะกินยาคุม ไม่ท้อง แต่ไม่ได้ปลอดภัยต่อการติดโรค รักใครต้องส่งเสริมให้เขาได้ใช้ถุงยาง อย่ากีดกันเขาจากถุงยาง พ่อแม่ต้องเตรียมลูกให้เขาเผชิญกับครั้งแรกอย่างถูกต้อง อย่ากีดกันให้เด็กเข้าถึงความปลอดภัยและความรับผิดชอบ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดทางสังคม”

  • ส่งเสริมเด็ก มีรักอย่างปลอดภัย

ด้าน นางสาวพรนุช สถาผลสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ได้ทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร สสส. และภาคีเครือข่าย เผยแพร่หลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง เรื่องเพศวิถีศึกษา ให้ครูผู้สอนร่วมกับทำงานเชิงรุกกับผู้บริหารสถานศึกษา ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา 16 คาบ/ปี เช่น การสอนให้นักเรียนรู้จักความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ สังเกตความเปลี่ยนแปลงร่างกายจิตใจ รู้วิธีป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์

158152023935

แต่ทั้งหมดยังมีอุปสรรคเรื่องทัศนคติของผู้ใหญ่ ครู และพ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก มีความพยายามยับยั้งการมีแฟน มีความรัก ทั้งที่เป็นเรื่องธรรมชาติ ขณะที่หลายโรงเรียนให้ความสำคัญกับการสอบแข่งขันมากกว่าการสอนทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ปลอดภัย ทำให้เด็กขาดภูมิคุ้มกันตัวเอง

“จากการสำรวจพบว่า เด็กส่วนมากได้รับถุงยางอนามัยจากในโรงเรียน ซึ่งเป็นความท้าทายในการทำงานกับโรงเรียนเพราะไม่ง่าย ดังนั้น ต้องทำให้เด็กเข้าถึงถุงยางได้ง่าย ปรับทัศนคติทางสังคมว่าเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเองไม่ว่าจะชายหรือหญิง สิ่งที่ไม่ควรละเลยคือการทำงานกับเด็กโดยตรง เพราะหากทำงานกับผู้ใหญ่อย่างเดียวการสื่อสารบางอย่างอาจจะผิดเพี้ยนไป” พรนุช กล่าว

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวเสริมว่า เราต้องมองโลกตามสภาพความเป็นจริง ผู้ใหญ่ต้องเท่าทัน เราไม่สามารถอยู่กับลูกหลานได้ 24 ชั่วโมง สิ่งที่ สสส. มุ่งหวัง คือ หากเราสามารถทำให้เขาชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกออกไปได้ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่หากทำไม่ได้จะทำอย่างไรให้เขาหยิบอุปกรณ์ป้องกันมาใช้ได้อย่างเท่าทัน

158152023882

“เราต้องติดอาวุธให้เด็ก ให้เขาปลอดภัยในการใช้ชีวิต ทำให้เขารู้สึกว่ามีพ่อแม่ที่คุยได้ การสื่อสารระหว่างครอบครัวเพื่อสร้างความปลอดภัย และเท่าทัน เป็นสิ่งที่ต้องเน้น เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องสกปรก หากปรับวิธีคิดให้เป็นเรื่องที่คุยได้ จะทำให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น หลังจากวันนี้อยากเห็นทุกคนใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น รับผิดชอบต่อตัวเอง รับผิดชอบต่อคนที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย ถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน” นายชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย