‘กรุงศรี’ จ่อรื้อเป้าสินเชื่อปีนี้ใหม่ พิษไวรัส 'โคโรนา' สะเทือนปล่อยกู้

‘กรุงศรี’ จ่อรื้อเป้าสินเชื่อปีนี้ใหม่ พิษไวรัส 'โคโรนา' สะเทือนปล่อยกู้

“กรุงศรี” จ่อรื้อเป้าหมายสินเชื่อปีนี้ หลังเผชิญปัญหาไวรัสโคโรนา จากเดิมคาดเติบโต 5-7% พร้อมสั่งคุม “เอ็นพีแอล” ไม่เกิน 2.5% ยอมรับปีนี้เผชิญความท้าทายมากขึ้นจากปัจจัยทั้งใน-นอกประเทศ มั่นใจกรณี “แบงก์ชาติ” เตรียมรื้อค่าธรรมเนียมใหม่ ไม่กระทบรายได้

นายเซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ  BAY กล่าวยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เผชิญความท้าทายมากขึ้น ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รวมไปถึงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยด้วย 

โดย ธนาคารคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าประมาณการเดิมซึ่งประเมินไว้ที่ 2.5% ทำให้ธนาคารต้องปรับลดเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อลงด้วย จากเป้าหมายปัจจุบันตั้งไว้ที่ 5-7% โดยเป้าหมายดังกล่าวเป็นการตั้งก่อนที่จะเกิดเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างประเมินว่า ปัญหาจากไวรัสโคโรนา จะกระทบต่อสินเชื่อในกลุ่มใดบ้าง

ส่วนเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ 5-7% แบ่งเป็นการเติบโตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 4-6% สินเชื่อเอสเอ็มอี 5-7% และรายย่อย ที่ 5-7% ส่วนสินเชื่อรถยนต์ตั้งเป้าเติบโต 6-8% สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตั้งเป้าเติบโตที่ 4-6%

“เดิมเราตั้งเป้าสินเชื่อไว้ บนการเติบโตของจีดีพีที่คาดว่าจะโต 2.5% ซึ่งการประเมินนี้เกิดก่อนที่จะมีเหตุการณ์ไวรัสโคโรนา ดังนั้นก็มีโอกาสที่สินเชื่อจะลดลงได้ แต่เราจะพยายามทำผลการดำเนินงานปีนี้ให้ดีกว่าปีก่อน แม้ธุรกิจแบงก์จะเจอความท้าทาย ซึ่งเราจะทำให้ดีที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้” นายเซอิจิโระ กล่าว

158156703283

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ธนาคารมั่นใจว่า จะสามารถคุมเอ็นพีแอลไม่ให้เกินระดับ 2.5% ได้ จากปีก่อนที่เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 1.98% เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารที่ผ่านมาอยู่ภายใต้การระมัดระวัง และมีการพิจารณา การบริหารความเสี่ยงที่เข้มงวดต่อเนื่อง แม้จะมีความกดดัน จากสถานการณ์ที่เข้ามากระทบมากขึ้น แต่แบงก์จะพยายามบริหารให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำให้ได้

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแผนปรับโครงสร้างการคิดค่าธรรมเนียมว่า คงมีผลกระทบกับธนาคารแน่นอน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบ แต่เชื่อว่าการปรับลดค่าธรรมเนียมลง จะไม่กระทบต่อ เป้าหมายการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ซึ่งธนาคารได้คาดการณ์ช่วงรายได้ของค่าธรรมเนียมดังกล่าวในปีนี้ไว้ว่า อาจหดตัวราว 3% ไปจนถึงเติบโต 3% เนื่องจาก มีค่าธรรมเนียมบางส่วนอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แต่ธนาคารจะพยายามหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เข้ามาชดเชยมากขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาการเติบโตค่าธรรมเนียมให้เป็นไปตามเป้าหมายได้

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นทิศทางขาลง เชื่อว่ามีผลกระทบต่อรายได้ของธนาคารแน่นอน แต่เชื่อว่า ธนาคารจะมีผลกระทบน้อยกว่าธนาคารอื่นๆ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีความสมดุล จากการกระจายพอร์ตสินเชื่อ โดยมีรายใหญ่ 50% และสินเชื่อรายย่อยที่ 5% ทำให้สามารถพอร์ตได้ค่อนข้างดี แม้ดอกเบี้ยจะปรับลดลง

สำหรับแนวโน้มการตั้งสำรองของธนาคารนั้น นายเซอิจิโระ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ประเมินได้ยากว่าจะเพิ่ม หรือจะปรับลดลงหรือไม่ จากปัจจุบันที่การสำรองอยู่ที่ระดับ 160% เนื่องจากภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ทำให้การคิดคำนวน หรือสมมุติฐานยากขึ้น แต่สำรองของธนาคารที่ผ่านมา ถือว่ามีเพียงพอ ที่จะรองรับผลกระทบต่างๆได้ ส่วนสำรองส่วนเกินที่มีอยู่จำนวนมาก ธนาคารไม่มีนโยบายนำกลับมาเป็นกำไรในอนาคต