การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในธุรกิจแฟรนไชส์

การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นมาก แต่ก็ปรากฏการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของผู้ซื้อแฟรนไชส์จำนวนไม่น้อยเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น มีปัญหาในการประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร? สัญญาไม่ชัดเจน หรือการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากเจ้าของ

แฟรนไชส์ (Franchise) เป็นแบบการตกลงในการทำธุรกิจแบบหนึ่งที่ฝ่ายหนึ่งเรียกว่าแฟรนไชส์ซี (Franchisee) เรียกง่ายๆ ว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์ ต้องการได้รับสิทธิจากผู้ประกอบการอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าแฟรนไชส์ซอร์ (Franchisor) เรียกง่ายๆ ว่าผู้ขายแฟรนไชส์ ในการได้รับความรู้ กระบวนการต่างๆ และการใช้เครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่เกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าหรือบริการที่แฟรนไชส์ซอร์เป็นเจ้าของ

โดยแฟรนไชส์ซีต้องจ่ายค่าตอบแทนแรกเข้าและค่าตอบแทนรายปีให้กับแฟรนไชส์ซอร์ตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ รวมทั้งอาจต้องแบ่งรายได้หากมีการกำหนดในสัญญาด้วย

  • การส่งเสริมพัฒนาและกำกับดูแลธุรกิจแฟรนไชส์

ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจตามเป้าหมายของกรมพัฒนาธุรกิจในการพัฒนาส่งเสริม และมีแนวคิดยกร่างพระราชบัญญัติธุรกิจแฟรนไชส์ ให้มีการตราออกบังคับใช้ เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ให้เป็นไปอย่างเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ฝ่ายนโยบายเห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายธุรกิจแฟรนไชส์ออกมาใช้บังคับ ดังนั้นธุรกิจแฟรนไชส์จึงยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ

  • ปัญหาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของธุรกิจแฟรนไชส์

ปัจจุบัน ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นมาก และผู้เริ่มต้นประกอบธุรกิจจำนวนมากก็นิยมซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจที่เป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่แล้ว เช่นธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ เพื่อประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง แต่ก็ปรากฏการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของผู้ซื้อแฟรนไชส์จำนวนไม่น้อยเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น มีปัญหาในการประกอบการไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

แต่ปัญหาเกือบทั้งหมดมิได้เกิดขึ้นจากบทบัญญัติของสัญญา จึงไม่มีประเด็นว่าเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่ปัญหาเกิดจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของเจ้าของแฟรนไชส์บางราย โดยเฉพาะเจ้าของแฟรนไชส์ที่ประกอบธุรกิจอย่างไร้คุณธรรม แต่ที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นการเฉพาะ จึงไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะดำเนินการกับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าของแฟรนไชส์ได้

  • การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า

บัดนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ออกประกาศ เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมในธุรกิจแฟรนไชส์ ลงวันที่ 30 ต.ค.2562 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2562 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.2563 เป็นต้นไป เหตุผลเพื่อให้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยแฟรนไชส์ซอร์ต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซี มีสาระสำคัญคือ 

การเปิดเผยข้อมูล ตามประกาศข้อ 3 กำหนดให้แฟรนไชส์ซอร์ต้องเปิดเผยข้อมูลการประกอบธุรกิจของตนให้แก่แฟรนไชส์ซีก่อนทำสัญญา คือค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เช่นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าสิทธิ ค่าใช้จ่ายการตลาด ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม แผนการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ เช่นการให้ความช่วยเหลือในการบริหารจัดการ การฝึกอบรม การให้คำแนะนำ จำนวนและสถานที่ตั้งของแฟรนไชส์ซีในพื้นที่ใกล้เคียง สาระเกี่ยวกับสิทธิในเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้อง การต่อสัญญา การแก้ไข การยกเลิกสัญญา

การขยายสาขา ตามประกาศข้อ 4 การขยายสาขาโดยแฟรนไชส์ซอร์เป็นผู้บริหารและดำเนินการเอง ต้องแจ้งให้แฟรนไชส์ซีที่มีสาขาอยู่ใกล้เคียงสุดทราบ และให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีรายนั้นก่อน

การพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ตามประกาศข้อ 5 กำหนดแนวทางในการพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่แฟรนไชส์ซีตามมาตรา 57 ซึ่งมีอยู่ 6 ข้อ ข้อที่สำคัญคือการกำหนดเงื่อนไข ที่เป็นการจำกัดสิทธิแฟรนไชส์ซีโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่นกำหนดให้ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับสินค้าหรือบริการแฟรนไชส์จากแฟรนไชส์ซอร์หรือจากบุคคลที่กำหนด กำหนดโควตาให้แฟรนไชส์ซีต้องซื้อวัตถุดิบในปริมาณสูงเกินความต้องการใช้จริง และไม่รับคืนส่วนเกิน

ห้ามแฟรนไชส์ซีซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการรายอื่นที่ขายสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันและราคาถูกกว่า โดยให้ซื้อจากแฟรนไชส์ซอร์หรือที่แฟรนไชส์ซอร์กำหนดเท่านั้น

การดำเนินการกับแฟรนไชส์ซอร์ที่ปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

ในกรณีที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าแฟรนไชส์ซอร์มีการฝ่าฝืนมาตรา 57 โดยมีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมทางการค้าตามประกาศดังกล่าวข้างต้น (ซึ่งอาจมาจากมีข้อร้องเรียนหรือคณะกรรมการมีข้อมูลหรือเห็นเอง) คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีอำนาจตามมาตรา 60 สั่งเป็นหนังสือให้แฟรนไชส์ซอร์ ระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นได้ แฟรนไชส์ซอร์ที่ได้รับคำสั่งดังกล่าวต้องปฏิบัติตามคำสั่งนั้น เว้นแต่แฟรนไชส์ซอร์จะฟ้องต่อศาลปกครองและศาลปกครองสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการ

การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย บุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการที่แฟรนไชส์ซอร์ฝ่าฝืนมาตรา 57 มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากแฟรนไชส์ซอร์ได้ โดยขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมหรือมูลนิธิที่ได้รับการรับรอง ฟ้องแทนได้

โทษทางปกครอง แฟรนไชส์ซอร์ที่ฝ่าฝืนมาตรา 57 ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ในปีที่กระทำความผิด ในกรณีเป็นการกระทำความผิดของปีแรกที่กระทำธุรกิจให้ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินหนึ่งล้านบาท

แฟรนไชส์ซอร์ที่ฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 60 ต้องชำระค่าปรับทางปกครองไม่เกิน 6 ล้านบาท และปรับอีกในอัตราไม่เกิน 3 แสนบาทต่อวันตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอยู่

การบังคับทางปกครอง ในกรณีที่แฟรนไชส์ซอร์ที่ถูกลงโทษทางปกครองไม่ยอมชำระค่าปรับทางปกครอง

ให้สามารถนำมาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาบังคับใช้ โดยยึดอายัดทรัพย์สินของแฟรนไชส์ซอร์ขายทอดตลาดชำระค่าปรับได้ ในกรณีไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับทางปกครองหรือมีแต่ไม่สามารถดำเนินการบังคับทางปกครองได้ คณะกรรมการมีอำนาจฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อบังคับชำระค่าปรับ