รฟม.ดันแทรมเชียงใหม่ ประมูลปีหน้า เปิดใช้ปี 70

รฟม.ดันแทรมเชียงใหม่ ประมูลปีหน้า เปิดใช้ปี 70

รฟม.ดันแทรมภูมิภาคต่อเนื่อง หลังติดเครื่องแทรมเชียงใหม่ 2.7 หมื่นล้าน เตรียมก่อสร้างเปิดใช้ปี 70 แย้มเอกชนไทย - เทศสนใจร่วมทุน จ่อชงโปรเจ็กต์ภูเก็ต - โคราช - พิษณุโลกเข้า ครม.

นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ หรือรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)  มีผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมกว่า 100 คน โดยระบุว่า ขณะนี้เอกชนจากส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ทั้งในและต่างประเทศ สนใจร่วมลงทุนจำนวนมาก รฟม.คาดว่าจะเร่งศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนให้แล้วเสร็จภายใน เม.ย.นี้

อย่างไรก็ดี ขั้นตอนดำเนินการโครงการแทรมเชียงใหม่หลังจากนี้ รฟม.จะนำเสนอให้คณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม.พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอให้กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) พิจารณา คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากลางปี 2564 และเปิดประมูลทันที หลังจากนั้นจึงจะเริ่มงานก่อสร้างในช่วงกลางปี 2565 ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2570

สำหรับโครงการการแทรมเชียงใหม่ สายสีแดง มีระยะทางรวม 15.8 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นเป็นรูปแบบ PPP Net Cost สัมปทาน 30 ปี ซึ่งรัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนลงทุนค่าก่อสร้างงานโยธา, งานระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกลค่าขบวนรถไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายในการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุง โดยเอกชนได้รับรายได้ค่าโดยสารเป็นค่าตอบแทน และให้ผลตอบแทนแก่รัฐตามข้อตกลงร่วมกัน

ในส่วนของการการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของโครงการฯ เบื้องต้นประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณราว 4.4 พันล้านบาท ซึ่งชาวบ้านจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากโครงการนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการอยู่ใต้ดิน โดยขณะนี้ประเมินว่าอาจจะมีการเวนคืนที่ดินบริเวณแยกหนองฮ่อ เพื่อจัดทำเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) ประมาณ 25 ไร่ และบริเวณทางขึ้น-ลงของสถานีระดับใต้ดิน ประมาณ 9.5 กม. ขณะที่อัตราค่าโดยสารของโครงการแทรมสายนี้ รฟม.กำหนดไว้ที่ 15 – 30 บาทต่อคนต่อเที่ยว คาดว่าปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสาร 1.6 หมื่นคนต่อวัน

158150166611

 

นายธีรพันธ์ ยังกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.นครราชสีมา เบื้องต้น รฟม.จะพัฒนาในส่วนของสายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ เป็นส่วนแรก โดยมีระยะทางโครงการราว 11.17 กม. วงเงินประมาณ 8 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา เตรียมจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ในเดือน มี.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปผลการศึกษาในเดือน พ.ค.2563 ก่อนเสนอเข้าบอร์ด รฟม.เห็นชอบปลายปี และเสนอ ครม.เพื่อทำการเปิดประมูลช่วงปี 2564 – 2565

ส่วนโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.พิษณุโลก สายสีแดง ระยะทาง 12.6 กม.วงเงินประมาณ 1,566 ล้านบาท (ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก – เซ็นทรัลพลาซ่า) ในเดือน ก.พ.นี้ จะเสนอให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้ รฟม.มีอำนาจในการดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน จ.พิษณุโลก

158150168051

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ความคืบหน้าของโครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาคในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ รฟม. ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต คาดว่าจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ได้ภายในปีนี้ เพื่อเปิดประมูลและเริ่มงานก่อสร้างในปีหน้า โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติ

ส่วนจังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบันถือว่าผลการศึกษาค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะมีการพัฒนาแนวเส้นทางระยะทางประมาณ 12 กม. ส่วนของสายสีเขียวอ่อน เป็นอันดับแรก โดยแนวเส้นทางจะตัดผ่านสถานีทดลองการใช้น้ำชลประทานที่ 3 ห้วยบ้านยาง – ตลาดเซฟวัน และสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ – สำนักงานขนส่ง จ.นครราชสีมา โดยจะมีจำนวน 13 สถานี

ขณะที่ระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดพิษณุโลก รฟม.ยังต้องรอให้ ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกา มอบให้ รฟม.เป็นผู้ดำเนินการ ส่วนระบบขนส่งในจังหวัดขอนแก่น และหาดใหญ่ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การส่วนปกครองท้องถิ่น