บ้าน 'นกเงือก' ฮาลาบาลา อัญมณีไพรชายแดนใต้

บ้าน 'นกเงือก' ฮาลาบาลา อัญมณีไพรชายแดนใต้

ผิวดินยังไม่ทันหมาดน้ำดี ฝนก็ร่วงฟ้าลงมาอีกระลอก ภาวะ “ฝนแปดแดดสี่” ดูจะกลายเป็นวัฏจักรธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไปไปแล้วสำหรับ “ฮาลา-บาลา” อัญมณีไพรแดนใต้ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดอีกผืนของเมืองไทย

“ป่าฝนก็อย่างนี้แหละครับ” ใครบางคนเอ่ยทัก และป่าฝนแห่งนี้มีความสำคัญตรงที่เป็นบ้านหลังใหญ่ของ "นกเงือก" เป็นป่าดิบชื้นที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า “ฮาลา-บาลา” มีพื้นที่ป่าบรรจบกัน 2 ผืน ประกอบด้วยป่าฮาลา ในเขตอำเภอเบตง จังหวัดยะลา และ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส กับป่าบาลาที่ครอบคลุมอำเภอแว้งและอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส

แม้ป่าฮาลาและป่าบาลาจะไม่ได้เป็นผืนเดียวกัน แต่ได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเดียวกัน โดยได้รับการประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2539 อันเป็นแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย มีพื้นที่ประมาณ 270,725 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เทือกเขาสันกาลาคีรี ก่อนจะมีการเพิ่มพื้นที่เขตรักษาพันธุ์เป็น 391,689 ไร่ในเวลาต่อมา

นอกจากเป็นป่าคนละผืนแล้ว ชื่อเรียกก็ยังถูกเรียกเป็นคนละชื่อ นั่นคือ “ฮาลาบาลา” กับ “บาลาฮาลา” เคยมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้โดย ศณีรา บล็อกเกอร์จากโอเคเนชั่นว่า...

"..ป่าฝั่งอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ชาวบ้านเขาจะเรียกว่า “ป่าฮาลาบาลา” และ ป่าฝั่งอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส คือ “ป่าบาลาฮาลา” ทั้งนี้คำว่า “บาลา”มาจากคำว่า “บาละห์” แปลว่าหลุดหรือปล่อย อันมาจากช้างหลุดเข้าป่าที่ป่าฝั่งอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส และ “ฮาลา” ก็คือ ทางผ่าน ทางอพยพ คนอพยพ คือ คน ที่อพยพมาจากการแตกของเมืองปัตตานีในสมัยอดีต มาตั้งหลักทำกินเป็นหมู่บ้าน ชุมชนกลางป่าดงดิบแห่งนี้นั่นเอง.."

158150865291

  • อ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

13 กุมภาพันธ์ 'วันรักนกเงือก' นักปลูกผู้ปกปักษ์ป่าสมบูรณ์

'นกเงือก' นักปลูกป่าชะตาต้องสาปกับวงจรค้าสัตว์ผิดกฎหมาย

วันรักนกเงือก ถึง 'นกเงือก' ที่รัก(ษ์)

ทั้งนี้ เมื่อนำมาบวกกับแนวความคิดผู้คนในชุมชนพื้นที่ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งผู้เขียนก็สัมผัสมากว่า 16 ปี เขาก็เรียกป่าใหญ่แห่งนี้ว่า “ป่าฮาลา” และในชุมชนฝั่งอำเภอแว้ง ตามคำบอกเล่าของ ชุมศักดิ์ นรารัตนวงศ์ ว่าปราชญ์ชาวบ้านฝั่งอำเภอแว้ง เขาพอใจที่จะเรียกป่าของเขาว่า “ป่าบาลา” หรือ “ป่าบาลาฮาลา” ทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะใครๆ ก็ต้องการเรียกชื่อของท้องถิ่นตนเองนำหน้าแทนที่จะเรียกชื่อถื่นอื่นตามหลังตามหลัง ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่า หากเป็นผืนป่าฝั่งยะลาจะเรียก ป่าฮาลาบาลา หากเป็นผืนป่าฝั่งนราธิวาสก็จะเรียก ป่าบาลาฮาลา  

อย่างไรก็ตาม ภาพความสมบูรณ์ของป่าดิบชื้นหรือป่าฝนเขตร้อน ที่มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ทำให้มีความชื้นสูงตลอดปี อีกทั้งยังมีแนวป่าต่อเนื่องกับป่าเบลุ่มทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย เมื่อรวมพื้นที่เข้าด้วยกันจัดได้ว่าเป็นป่าฝนเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนคาบสมุทรมาลายา ทำให้ที่นี่มีความหลากหลายของพืช และสัตว์อยู่สูงมาก

เคยมีรายงานว่าพบสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด ประกอบด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 54 ชนิด เป็นสัตว์ที่ไม่เคยรายงานว่ามีการพบมาก่อน (new record) 1 ชนิด คือ Siamang หรือ ชะนีดำใหญ่ (lobat sndactlus) ตามรายงานเป็นสัตว์ในตระกูลไพเมท ที่มีการแพร่กระจายอยู่ในมาเลเซีย และสุมาตรา ถึงขนาดการันตีความสมบูรณ์อันดับ 3 ของโลกรองจากผืนป่าอะเมซอน และป่าในอินโดนีเชียเท่านั้น

เมื่อกล่าวถึงอัญมณีแดนใต้เม็ดนี้ การเป็นบ้านของนักแพร่พันธุ์แห่งพงไพรสัญลักษณ์แห่งความรักเดียวใจเดียวอย่าง "นกเงือก" ก็มักเป็นสิ่งที่ถูกหยิบขึ้นมาเทียบเคียงกันอยู่ตลอด เพราะที่นี่เป็นบ้านหลังใหญ่ของนกเงือก 10 ชนิด จากนกเงือกทั้งหมด 13 ชนิดที่พบในประเทศไทย 

อย่างปรากฏการณ์การบินอพยพของฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบจากผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง มารวมฝูงที่ป่าฮาลาบาลา อ.เบตง จ.ยะลา ที่รอบปีหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น 

“นกเงือกกรามช้างปากเรียบ” เป็นนกเงือก 1 ใน 13 ชนิด ที่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตก หลังจากนกกลุ่มนี้เข้าโพรงออกลูกเสร็จสิ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม พวกมันจะเริ่มบินอพยพลงมาทางใต้ เพื่อรวมฝูงครั้งใหญ่โดยบินผ่านเทือกเขาตะนาวศรีเรื่อยมาจนถึงเทือกเขาบรรทัด ก่อนจะมาสิ้นสุดที่ป่าฮาลาบาลา และป่าแบลุ่มที่อยู่ติดกันในเทือกเขาสันกาลาคีรี โดยนกเงือกจะจับกลุ่มครั้งละ 10-20 ตัว บินลงมาเรื่อยๆ

158150139213

ปัจจุบันฝูงนกเงือกกรามช้างปากเรียบบินมาถึงป่าฮาลาบาลาประมาณ 500 ตัว และจากนี้ไปตลอดทั้งปีจะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึง 2,000 ตัว ก่อนจะบินกลับป่าห้วยขาแข้งอีกครั้งหนึ่งตามวงจรชีวิต

ปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ข้อมูลว่า การอพยพมารวมฝูงของนกเงือกกรามช้างปากเรียบ ถือเป็นฝูงนกเงือกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการสำรวจ และบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการ จากนกเงือก 54 ชนิดทั่วโลกที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าแอฟริกา และเอเชีย นี่ถือเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ และเอกลักษณ์อันเฉพาะเจาะจงของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ถึงฤดูผลไม้สุก ที่นี่จะกลายเป็นจุดหมายของช่างภาพธรรมชาติและนักวิจัยจากทั่วทุกสารทิศ ตลอดเส้นทางยุทธศาสตร์สายบาลา-ภูเขาทอง เส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และด้านความมั่นคง จากบ้านบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง ตัดผ่านป่าบาลา และไปสิ้นสุดที่ บ้านภูเขาทองในอำเภอสุคิริน รวมระยะทาง 18 กิโลเมตร ได้กลายเป็นพื้นที่ศึกษาธรรมชาติที่สำคัญอีกแห่งของปลายด้ามขวาน

โดยมีพืชพรรณที่โดดเด่นอย่าง ต้นสมพง(กระพง)ยักษ์ ขนาดเส้นรอบวง 25 เมตร มีความสูงของพูพอน(ส่วนที่อยู่โคนต้นไม้เป็นปีกแผ่ออกไปรอบๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นไม้ใหญ่ที่อยู่ริมน้ำ เพราะจะช่วยในการพยุงลำต้น) สูงประมาณ 4 เมตร เป็นดาราชูโรงรออยู่ นอกจากนั้น สังคมพรรณพืชหลากหลายชนิดตามลักษณะของป่าฝนเขตร้อน ยังสามารถช่วยลดการกัดเซาะหน้าดินจากน้ำฝน และยังช่วยป้องกันอุทกภัยให้กับผู้คนในระแวกนี้อีกด้วย

ความสมบูรณ์ทั้งหมดของผืนป่านี้ จึงถือเป็นของขวัญจากธรรมชาติที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นมรดกความงามในระบบนิเวศที่ทุกคนล้วนมีส่วนจะต้องช่วยกันรักษา และหวงแหนเอาไว้

158150866828